วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2565

คำสั่ง ตร.ที่ 234/2558

คำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 234/2558 เรื่อง การพิจารณาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บกพร่องในการป้องกันและปราบปรามอบายมุข (คลิกที่นี่)

วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

สารบัญ

ความประพฤติและระเบียบวินัยตำรวจ
การแต่งเครื่องแบบและบุคลิกภาพตำรวจที่ดี

การดำเนินการทางวินัยตำรวจ

คดีกระทำผิดวินัยที่ฟ้องต่อศาลปกครอง

หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การแต่งเครื่องแบบและบุคลิกภาพตำรวจที่ดี

ประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี 
ลักษณะที่ ๒๒ 
การแต่งเครื่องแบบ
บทที่ ๑ ลักษณะทั่วไป
               เครื่องแบบตำรวจที่ทางราชการกำหนดขึ้น เป็นเครื่องแสดงถึงสัญลักษณ์ของผู้แต่ง ว่าเป็นข้าราชการผู้ทรงเกียรติเหล่าหนึ่ง ซึ่งต่างจากข้าราชการอื่น ๆ และยังมีความหมายให้รู้ว่าผู้แต่งมีหน้าที่ รักษากฎหมาย และคอยพิทักษ์รับใช้ประชาชน
               พระราชหัตถเลขาในราชกาลที่ ๕ ผู้ทรงพระราชทานกำเนิดเครื่องแบบตำรวจว่า "สีกากี" ภาษาเปอร์เซียน แปลว่า "สีแผ่นดิน" จึงน่าจะมีพระราชประสงค์ว่า ตำรวจต้องเป็นตำรวจของแผ่นดิน เป็นผู้รักษาแผ่นดิน หรือต้องบำบัดทุกข์ให้ความร่มเย็นเป็นสุข รักษาความปลอดภัย และให้ความอุ่นใจประชาชนทุกชาติ ชั้น วรรณะ เหมือนแผ่นดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยให้ความสุขแก่สัตว์ทุกจำพวก
               ฉะนั้น ผู้แต่งเครื่องแบบต้องรักศักดิ์ศรี มีจิตใจสูง เข้มแข็ง หนักแน่น อดทน เสียสละ สุภาพ อ่อนโยน มีวินัยดี มีศีลธรรมและวัฒนธรรม ประกอบด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีความสามัคคีกัน
               การแต่งกายเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดหมดจด ยังชักจูงใจให้ประชนเกิดความศรัทธาเลื่อมใส เป็นการเข้าถึงจิตใจประชาชนในเบื้องต้น เครื่องแบบทุกชิ้นส่วนจึงควรให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมได้ส่วนสัดรัดกุม ที่เป็นผ้าต้องซักรีดให้เรียบร้อย ที่เป็นโลหะ หรือหนัง ต้องขัดถูให้สะอาดเป็นเงางามและ ต้องแต่งให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงทุกประการ
               ข้อ ๑.  การแต่งเครื่องแบบตำรวจนั้น ต้องให้เป็นเครื่องเตือนสติแก่ข้าราชการตำรวจที่จะรักษาวินัยตำรวจ ความประพฤติ และมารยาท สมเกียรติของตำรวจ การที่ตำรวจแต่งกายเรียบร้อย หมดจด ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ย่อมดูผึ่งผายองอาจเป็นสง่า แสดงให้เห็นว่า ตำรวจในกรมกองนั้น มีระเบียบวินัยดี เป็นที่น่าเกรงขามแก่หมู่พาลชน ไม่กล้าที่จะก่อเหตุร้ายขึ้น หากบกพร่องในการแต่งเครื่องแบบก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ตำรวจในหน่วยนั้น ๆ มีสมรรถภาพ ระเบียบวินัย ตลอดจนการปฏิบัติงานอ่อนแอ ไม่เป็นที่เลื่อมใสของประชาชน
               ข้อ ๒.  เครื่องแบบ และส่วนประกอบของเครื่องแบบ ต้องสะอาดเรียบร้อย และแต่งให้ครบชุด สีของเครื่องแบบต้องไม่ผิดเพี้ยน หรือเข้มผิดปกติ เครื่องแบบประเภทไหนมีส่วนประกอบอย่างใด ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบตำรวจ การแต่งเครื่องแบบไม่ครบชุด เช่น สวมแต่เสื้อไม่สวมหมวก หรือสวมหมวก ไม่คาดเข็มขัด หรือคาดหย่อนยานไม่มีขอบรับ ไม่ติดเลขประจำตัว หรือสถานี หรือชื่อหน่วยงานที่สังกัด ไม่กลัดคอเสื้อ หรือแต่งเกินไปกว่าที่กำหนดให้แต่ง เช่น ประดับสายนกหวีด ในเวลาที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามประจำหรือควบคุมแถว ถือได้ว่า แต่งเครื่องแบบไม่เรียบร้อย
               ข้อ ๓.  เครื่องแบบและส่วนประกอบทุกชิ้น ตลอดจนสีของผ้าตัดเครื่องแบบต้องเป็นไปตามลักษณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด หรือจัดทำขึ้นเป็นตัวอย่าง ห้ามมิให้ดัดแปลงให้ผิดแปลกไปจากแบบที่กำหนดหรือตัวอย่าง
               ข้อ ๔.  สีของเสื้อ กางเกง และหมวก จะต้องไม่แตกต่างกันจนเห็นได้ชัด ห้ามใช้สีเข้ม สีซีดจางไปจากสีผ้าเครื่องแบบที่กรมตำรวจกำหนดไว้ชัดเจนน่าเกลียด รูปทรงของเสื้อ กางเกงและหมวก ต้องเป็นไปโดยสุภาพเหมาะสมกับขนาดทรวดทรงร่างกายของตน ต้องไม่คับหรือหลวมเกินไป หมวกต้องเป็นทรงตึงไม่บู้บี้
               ข้อ ๕.  การแต่งเครื่องแบบ เมื่อมีหมายกำหนดการ คำสั่ง หรือบัตรเชิญไปในงานใดให้แต่งเครื่องแบบตามที่กำหนดไว้ในหมายกำหนดการ คำสั่ง หรือบัตรเชิญนั้น ๆ แต่ถ้ากรณีนั้น ๆ มิได้กำหนดให้แต่งเครื่องแบบอย่างใด ให้แต่งอย่างสุภาพตามสมัยนิยม และเหมาะสมกับงาน
               ข้อ ๖.  ผู้แต่งเครื่องแบบจะต้องสวมหมวกเสมอ หมวกที่สวมนั้น ต้องเป็นหมวกตามแบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่ทรงบู้บี้ เว้นแต่ ได้เข้าไปในสถานที่ราชการหรือเคหะสถานที่ใดแล้วให้ถอดหมวกตามประเพณีได้
               ข้อ ๗.  ห้ามนำหนังสือ หรือวัตถุอื่นใด ใส่กระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกงจนดูไม่เรียบร้อย
               ข้อ ๘.  ในเวลาแต่งเครื่องแบบ ห้ามมิให้ใช้ผ้าอื่นใดพันคอเพื่อซับเหงื่อ เว้นแต่ เวลาสวมเครื่องแบบเสื้อนอกคอปิด ถ้าจะใช้ผ้าซับเหงื่อก็ให้ใช้ผ้าสีขาว
               ข้อ ๙.  ห้ามมิให้ข้าราชการตำรวจแต่งกายไม่สุภาพเข้าไปในสถานที่ราชการ เช่น สวมรองเท้าแตะ หรือนุ่งกางเกงแพร หรือโสร่ง เป็นต้น เว้นแต่ สถานที่นั้นเป็นที่พักอาศัยของข้าราชการและเป็น เวลานอกราชการ
               ข้อ ๑๐.  การแต่งกายสากล ต้องแต่งให้เรียบร้อยตามประเพณีนิยม

การพกพาอาวุธของตำรวจ

 นอกเหนือจากกฎหมายแล้ว ยังมีระเบียบที่ควบคุมการการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจอยู่ ๒ อย่าง คือ
             ๑. ระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี (เกี่ยวกับการ ตรวจค้น ,จับกุม ฯลฯ)
             ๒. ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี (เครื่องแต่งกาย,ระเบียบวินัย,การพกพาอาวุธ ฯลฯ)
             การพกพาอาวุธปืนของข้าราชการตำรวจนั้นมีระบุไว้ในประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี เล่ม ๒ ตอน ๑ ประเภทบริหาร ลักษณะที่ ๒๒ การแต่งเครื่องแบบ

บทที่ ๑๓
การพกพาอาวุธปืน ดาบปลายปืน และตะบอง

             ข้อ ๑. ห้ามมิให้ข้าราชการตำรวจซึ่งแต่งเครื่องแบบก็ดี หรือมิได้แต่งเครื่องแบบก็ดี หรือที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการต่างๆ โดยทั่วไป พกหรือพาอาวุธปืนไปในถนนหลวง ทางหลวง หรือในที่สาธารณสถาน เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
                       ๑. หน่วยตำรวจรักษาการณ์ที่เตรียมตัวอยู่กับที่เป็นหมวดหมู่เพื่อป้องกันและปราบปรามเหตุการณ์โจรผู้ร้าย
                       ๒. ตำรวจสายตรวจ ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร
                       ๓. หน่วยตำรวจซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปตรวจ หรือรักษาเหตุการณ์แรมคืน
                       ๔. ตำรวจที่ประจำตู้ยามหรือด่านตรวจ
                       ๕. ตำรวจที่ทำหน้าที่อารักขาบุคคลหรือเป็นยามสถานที่สำคัญ ซึ่งทางราชการสั่งให้มีอาวุธปืนติดตัวได้
                       ๖. ตำรวจซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเงิน
                       ๗. ตำรวจผู้ควบคุมผู้ต้องหา หรือจำเลย หรือผู้ต้องหา เดินทางไปส่ง ณ ที่ใด ๆ ซึ่งเป็นทางไกลหรือทางเปลี่ยวอันจำเป็นต้องมีอาวุธควบคุมอย่างเข้มแข็ง และหัวหน้าหน่วยงานที่จัดตำรวจควบคุมไปนั้นสั่งให้ตำรวจผู้ควบคุมมีอาวุธปืนไปในการนั้น
                       ๘. เมื่อมีกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องปราบปรามเหตุการณ์ด้วยการใช้อาวุธ ให้ตำรวจพกอาวุธปืนเคลื่อนที่ไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ต้องมีหัวหน้าเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรคุมไป ถ้าไม่มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่จะจัดให้ควบคุมไปได้ จึงให้จัดนายตำรวจชั้นประทวนถัด ๆ ลงมาไปเป็นผู้ควบคุม
                       ๙. ตำรวจที่ทำการฝึก ซึ่งต้องใช้อาวุธปืนตามระเบียบที่ว่าด้วยการฝึก
                      ๑๐. ตำรวจที่จัดเป็นกองหมวดหรือหมู่เกียรติยศตามระเบียบที่ว่าด้วยการจัดแถวเกียรติยศ
                      ๑๑. ตำรวจซึ่งทำหน้าที่นำอาวุธปืนของหลวงหรือของกลางส่งยังที่ต่าง ๆ ในกรณีนี้ต้องบรรจุอาวุธปืนนั้นในหีบหรือห่ออย่างเรียบร้อย
                      ๑๒. กรณีพิเศษอื่น ๆ ที่ผู้บังคับบัญชาตำรวจตั้งแต่ชั้นผู้กำกับการขึ้นไป สั่งให้พกอาวุธปืนไปได้
                      ข้อยกเว้นเหล่านี้ เมื่อเสร็จกิจที่จำต้องพกหรือพาอาวุธปืนไปในการนั้นแล้ว ตำรวจที่มีอาวุธปืนเหล่านั้น ต้องรีบกลับหน่วยที่ตั้งโดยเร็ว ห้ามพกหรือพาอาวุธปืนแวะเวียนไปในที่อื่นใดอีก
            ข้อ ๒. ในเขตพระราชฐาน เขตทหาร ในศาล ห้ามมิให้พกอาวุธปืนเข้าไป
            ข้อ ๓. ตำรวจที่รักษาการณ์โดยทั่วไป นอกจากกรณีที่ยกเว้นไว้ตอนต้นนั้น ให้ใช้อาวุธดังนี้
                       ๑. ตำรวจนครบาลให้ใช้ตะบองตามแบบของกรมตำรวจ
                       ๒. ตำรวจภูธร ให้ใช้ดาบปลายปืนของหลวง
            ข้อ ๔. ตำรวจที่เดินทางจากต่างจังหวัดหรือต่างท้องที่ โดยพกอาวุธปืนสำหรับตัวไปด้วย ให้รีบนำอาวุธปืนและกระสุนทั้งของหลวงและของส่วนตัวไปฝากไว้ที่สถานีตำรวจเจ้าของท้องที่นั้น ๆ เว้นแต่การเดินทางผ่านโดยไม่พักค้างคืน
                       การฝากอาวุธตามวรรคต้นนั้น ไม่บังคับแก่ตำรวจชั้นจ่าสิบตำรวจขึ้นไป
                       การฝากและรับอาวุธปืนคืน ให้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการนั้น

ความประพฤติและระเบียบวินัยตำรวจ

ประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี
ลักษณะ ๑
ความประพฤติและระเบียบวินัย
---------------------------
บทที่ ๑
ความประพฤติและระเบียบวินัย
---------------------------
​             ความประพฤติและระเบียบวินัยนั้น กล่าวโดยย่อก็คือ ควบคุมความเป็นระเบียบ หรือนัยหนึ่งเรียกกันว่าวินัยและควบคุมความประพฤติของตำรวจแต่ละคนให้เป็นผู้ที่เคร่งครัดต่อระเบียบและประพฤติตนเป็นคนดี เพื่อให้เหมาะสมแก่หน้าที่ของข้าราชการตำรวจ ซึ่งทางราชการมุ่งหมายให้เป็นผู้รักษากฎหมายของประเทศและบำรุงสุขแก่ประชาชนเพื่อให้มีความสงบและเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนและประเทศ ทางกรมตำรวจจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติ ตลอดจนความประพฤติอันอยู่ในข่ายที่เหมาะสมไว้ให้ข้าราชการกรมตำรวจถือเป็นหลักปฏิบัติ
             ​ดังนั้น ผู้ที่เป็นข้าราชการตำรวจจำเป็นที่จะต้องบังคับจิดใจของตนให้เป็นผู้ที่มีความประพฤติเหมาะสมเป็นอันดี เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และรักษากฎหมายและระเบียบวินัยโดยเคร่งครัดเพียบพร้อมไปด้วยความเป็นธรรม
             ​ข้าราชการตำรวจบางคน ประพฤติตนเป็นไปในทางที่ไม่รักษาระเบียบวินัยให้เคร่งครัด เป็นต้นว่าไม่แสดงความเคารพผู้ที่มียศสูงกว่าตน ใช้คำพูดที่ไม่สุภาพเรียบร้อยและหยาบโลน ปล่อยผมให้ยาวและตัดแบบทรงยาว เมื่อนั่งหรือโดยสารไปในรถยนต์หรือรถอื่นไม่สวมหมวกและหมวกที่สวมก็เป็นหมวกไม่ถูกลักษณะตามแบบที่กำหนดไว้ เช่น ทรงเตี้ย รูปร่างลักษณะบู้บี้มีกระบังหน้าสั้น เสื้อและกางเกงเครื่องแบบที่นำมาแต่งก็มีลักษณะสีไม่เหมือนกัน เช่น เสื้อสีอ่อนแต่กางเกงสีแก่ และบางคนก็ใช้รองเท้าและถุงเท้าสลับสีกันซึ่งไม่ถูกต้องตามระเบียบ ผู้ที่แต่งกายนอกเครื่องแบบ เช่น ในเวลาปฏิบัติราชการอยู่ในสถานที่ราชการบางคนก็แต่งกายไม่สุภาพ เป็นต้นว่าใส่เสื้อฮาวายปล่อยเอวมีสีดอกและลวดลายต่าง ๆ ผู้ที่เป็นสตรีเพศบางคนก็แต่งกายไม่อยู่ในลักษณะของข้าราชการที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ราชการ เช่น แต่งด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด เป็นต้น บางคนก็ใช้สายหนังรัดติดไว้กับขา เวลาปฏิบัติหน้าที่เป็นเวรยามรักษาการณ์ก็มิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามระเบียบการอยู่เวรยามหรือรักษาการณ์ เช่น นั่งบ้าง ยืนห่ออกบ้าง
พฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วนี้ ล้วนแต่เป็นการแสดงว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนระเบียบแบบแผนและวินัยอันดีงามของข้าราชการตำรวจทั้งสิ้น อาจทำให้ข้าราชการตำรวจที่ดี และชื่อเสียงของกรมกองพลอยเสื่อมเสียไปด้วย
             จึงเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาทุกชั้น จะต้องกวดขันความประพฤติและระเบียบวินัยของ ผู้ใต้บังคับบัญชาดังนี้
              ๑.  ถ้าปรากฏว่าผู้ใดประพฤติฝ่าฝืนระเบียบแบบแผนที่ดีงามดังกล่าวมาตลอด จนฝ่าฝืนวินัยของข้าราชการตำรวจที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจ และตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี หรือด้วยประการอื่นใดที่ไม่สมควรกระทำ ให้ผู้ที่พบเห็นทราบเรื่อง รีบแจ้งผู้บังคับบัญชาพิจารณาทัณฑ์ตามโทษานุโทษแห่งความผิดทุกกรณี
              ๒.  ถ้าผู้บังคับบัญชาผู้ใดพบปะหรือทราบเรื่องเอง หรือผู้อื่นแจ้งมา ละเลยไม่ตักเตือนว่ากล่าวสั่งสอนหรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามควรแก่กรณีนี้ ถือว่าผู้บังคับบัญชานั้นมีความผิด ดังระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจ และประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑ ข้อ ๒ (๘) กล่าวคือ งดเว้นไม่ตักเตือนสั่งสอนหรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ ในกรณีเช่นนี้ผู้บังคับบัญชาเหนือ ๆ ขึ้นไปต้องพิจารณาทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชานั้นด้วยทุกครั้ง ถ้าเกินอำนาจก็ให้เสนอตามลำดับจนถึงกรมตำรวจด้วย
              ๓.  ข้าราชการตำรวจที่ได้พบเห็นข้าราชการตำรวจอื่นกระทำการฝ่าฝืนระเบียบวินัยและผู้กระทำการฝ่าฝืนไม่อยู่ในอำนาจที่ตนจะลงทัณฑ์เองได้ ซึ่งต้องแจ้งหรือเสนอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาทัณฑ์ตามกล่าวไว้ใน ๑ แล้วนั้น ต้องแจ้งชื่อ นามสกุล หมายเลขประจำตัว ชื่อสถานีตำรวจ หรือสังกัด วันเวลา และพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดไปยังตันสังกัดเดิมหรือแจ้งไปยังกรมตำรวจ เพื่อจะได้พิจารณาดำเนินการต่อไป