วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ความประพฤติและระเบียบวินัยตำรวจ

ประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี
ลักษณะ ๑
ความประพฤติและระเบียบวินัย
---------------------------
บทที่ ๑
ความประพฤติและระเบียบวินัย
---------------------------
​             ความประพฤติและระเบียบวินัยนั้น กล่าวโดยย่อก็คือ ควบคุมความเป็นระเบียบ หรือนัยหนึ่งเรียกกันว่าวินัยและควบคุมความประพฤติของตำรวจแต่ละคนให้เป็นผู้ที่เคร่งครัดต่อระเบียบและประพฤติตนเป็นคนดี เพื่อให้เหมาะสมแก่หน้าที่ของข้าราชการตำรวจ ซึ่งทางราชการมุ่งหมายให้เป็นผู้รักษากฎหมายของประเทศและบำรุงสุขแก่ประชาชนเพื่อให้มีความสงบและเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนและประเทศ ทางกรมตำรวจจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติ ตลอดจนความประพฤติอันอยู่ในข่ายที่เหมาะสมไว้ให้ข้าราชการกรมตำรวจถือเป็นหลักปฏิบัติ
             ​ดังนั้น ผู้ที่เป็นข้าราชการตำรวจจำเป็นที่จะต้องบังคับจิดใจของตนให้เป็นผู้ที่มีความประพฤติเหมาะสมเป็นอันดี เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และรักษากฎหมายและระเบียบวินัยโดยเคร่งครัดเพียบพร้อมไปด้วยความเป็นธรรม
             ​ข้าราชการตำรวจบางคน ประพฤติตนเป็นไปในทางที่ไม่รักษาระเบียบวินัยให้เคร่งครัด เป็นต้นว่าไม่แสดงความเคารพผู้ที่มียศสูงกว่าตน ใช้คำพูดที่ไม่สุภาพเรียบร้อยและหยาบโลน ปล่อยผมให้ยาวและตัดแบบทรงยาว เมื่อนั่งหรือโดยสารไปในรถยนต์หรือรถอื่นไม่สวมหมวกและหมวกที่สวมก็เป็นหมวกไม่ถูกลักษณะตามแบบที่กำหนดไว้ เช่น ทรงเตี้ย รูปร่างลักษณะบู้บี้มีกระบังหน้าสั้น เสื้อและกางเกงเครื่องแบบที่นำมาแต่งก็มีลักษณะสีไม่เหมือนกัน เช่น เสื้อสีอ่อนแต่กางเกงสีแก่ และบางคนก็ใช้รองเท้าและถุงเท้าสลับสีกันซึ่งไม่ถูกต้องตามระเบียบ ผู้ที่แต่งกายนอกเครื่องแบบ เช่น ในเวลาปฏิบัติราชการอยู่ในสถานที่ราชการบางคนก็แต่งกายไม่สุภาพ เป็นต้นว่าใส่เสื้อฮาวายปล่อยเอวมีสีดอกและลวดลายต่าง ๆ ผู้ที่เป็นสตรีเพศบางคนก็แต่งกายไม่อยู่ในลักษณะของข้าราชการที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ราชการ เช่น แต่งด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด เป็นต้น บางคนก็ใช้สายหนังรัดติดไว้กับขา เวลาปฏิบัติหน้าที่เป็นเวรยามรักษาการณ์ก็มิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามระเบียบการอยู่เวรยามหรือรักษาการณ์ เช่น นั่งบ้าง ยืนห่ออกบ้าง
พฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วนี้ ล้วนแต่เป็นการแสดงว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนระเบียบแบบแผนและวินัยอันดีงามของข้าราชการตำรวจทั้งสิ้น อาจทำให้ข้าราชการตำรวจที่ดี และชื่อเสียงของกรมกองพลอยเสื่อมเสียไปด้วย
             จึงเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาทุกชั้น จะต้องกวดขันความประพฤติและระเบียบวินัยของ ผู้ใต้บังคับบัญชาดังนี้
              ๑.  ถ้าปรากฏว่าผู้ใดประพฤติฝ่าฝืนระเบียบแบบแผนที่ดีงามดังกล่าวมาตลอด จนฝ่าฝืนวินัยของข้าราชการตำรวจที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจ และตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี หรือด้วยประการอื่นใดที่ไม่สมควรกระทำ ให้ผู้ที่พบเห็นทราบเรื่อง รีบแจ้งผู้บังคับบัญชาพิจารณาทัณฑ์ตามโทษานุโทษแห่งความผิดทุกกรณี
              ๒.  ถ้าผู้บังคับบัญชาผู้ใดพบปะหรือทราบเรื่องเอง หรือผู้อื่นแจ้งมา ละเลยไม่ตักเตือนว่ากล่าวสั่งสอนหรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามควรแก่กรณีนี้ ถือว่าผู้บังคับบัญชานั้นมีความผิด ดังระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจ และประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑ ข้อ ๒ (๘) กล่าวคือ งดเว้นไม่ตักเตือนสั่งสอนหรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ ในกรณีเช่นนี้ผู้บังคับบัญชาเหนือ ๆ ขึ้นไปต้องพิจารณาทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชานั้นด้วยทุกครั้ง ถ้าเกินอำนาจก็ให้เสนอตามลำดับจนถึงกรมตำรวจด้วย
              ๓.  ข้าราชการตำรวจที่ได้พบเห็นข้าราชการตำรวจอื่นกระทำการฝ่าฝืนระเบียบวินัยและผู้กระทำการฝ่าฝืนไม่อยู่ในอำนาจที่ตนจะลงทัณฑ์เองได้ ซึ่งต้องแจ้งหรือเสนอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาทัณฑ์ตามกล่าวไว้ใน ๑ แล้วนั้น ต้องแจ้งชื่อ นามสกุล หมายเลขประจำตัว ชื่อสถานีตำรวจ หรือสังกัด วันเวลา และพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดไปยังตันสังกัดเดิมหรือแจ้งไปยังกรมตำรวจ เพื่อจะได้พิจารณาดำเนินการต่อไป

              สำหรับระเบียบวินัยข้าราชการตำรวจ ชั้นนี้ประมวลได้ ดังมีความต่อไปนี้
              ข้อ ๑.  วินัยของตำรวจนั้น คือ การที่ตำรวจต้องประพฤติตนให้เป็นผู้มีมารยาทอันดีงามตามแบบอย่างธรรมเนียมของตำรวจ
              ข้อ ๒.  การกระทำผิดวินัยตำรวจนั้น หมายความรวมถึงการกระทำดังจะกล่าวต่อไปนี้
                         (๑)  ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลย ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตนที่ชอบด้วยกฎหมาย
                                เมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแล้ว ต้องปฏิบัติการตามคำสั่งทันทีโดยเต็มใจเต็มกำลังและสมความมุ่งหมายของผู้บังคับบัญชาทุกประการ เว้นแต่ผู้ออกคำสั่งหรือผู้แทนผู้ออกคำสั่ง หรือผู้มีอำนาจเหนือผู้ออกคำสั่งจะสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้น ถ้าได้รับคำสั่งซึ่งตนไม่เข้าใจโดยละเอียดจะต้องขอให้ผู้ออกคำสั่งชี้แจงให้เข้าใจก่อน ถ้าคำสั่งนั้นผิดต่อระเบียบแบบแผนของตำรวจหรือผิดต่อคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป ให้ชี้แจงผู้ออกคำสั่งทราบ ถ้ายังขืนให้ผู้รับคำสั่งทำตาม ผู้สั่งต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าทราบแน่ว่าคำสั่งนั้นผิดกฎหมาย เมื่อชี้แจงผู้ออกคำสั่งทราบแล้วแต่ไม่ปฏิบัติการตามคำสั่งนั้น
                         (๒)  ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่และผู้น้อย
                                 ระเบียบการเคารพที่ข้าราชการตำรวจจะต้องถือปฏิบัตินั้น ต้องถือปฏิบัติทั้งตามระเบียบที่ว่าด้วยการเคารพของข้าราชการตำรวจ และตามระเบียบการเคารพอื่น ซึ่งถือกันว่าเป็นมรรยาทอันดีงามของบุคคลทั่วไปด้วย
                         (๓)  ไม่ประพฤติตนให้เคร่งครัดต่อมรรยาทและระเบียบแบบแผนของข้าราชการตำรวจ
                                 มรรยาทและระเบียบแบบแผนของข้าราชการตำรวจนั้นมีอยู่เป็นอันมาก ข้าราชการตำรวจทุกคนจะต้องสนใจศึกษาและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เช่น ในเรื่องดังต่อไปนี้
                                 (๑)  ห้ามมิให้ข้าราชการตำรวจชายตัดผม หรือตัดผมแบบทรงยาว หรือไว้หนวดหรือเคราในลักษณะที่ไม่สุภาพเรียบร้อย (ความใน (ก) แก้ไข โดย ระเบียบกรมตำรวจ ว่าด้วย ความประพฤติและระเบียบวินัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๐ ลงวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๐)
                                 (๒)  ห้ามมิให้เล่นการพนัน นอกจากเล่นสลากกินแบ่งของรัฐบาลและเล่นบิลเลียดในสโมสรข้าราชการ และห้ามมิให้เข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน เช่น สนามม้า และสถานกาสิโน เป็นต้น คณะรัฐมนตรีมีมติตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังว่าการหาผลประโยชน์โดยวิธีการที่เรียกกันว่า “ลงแชร์, เล่นแชร์, ประมูลแชร์, เปียแชร์” หรือเรียกอย่างอื่นก็ตาม อันมีทำนองว่าคนหมู่หนึ่งเข้ากันจัดเป็นวงหนึ่ง ออกเงินเป็นรายเดือน ฯลฯ คนละเท่า ๆ กัน รวมเข้ากันเป็นเงินทุนกองกลางแล้ว ผลัดกันชักกองทุนนั้นไปใช้สอยโดยเสียดอกเบี้ย ถือลำดับตามที่ใครจะเป็นผู้ประมูลให้ดอกเบี้ยเป็นอัตราสูงสุดประจำเดือน (หรือระยะเวลาหนึ่ง ๆ) นั้นการที่ข้าราชการไปร่วมวิธีการเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นได้เพราะได้ใช้เงินทุนไปลงทุน และเมื่อประมูลดอกเบี้ยสูงเพื่อให้ได้เงินไปใช้สอยแล้ว ในเดือนต่อ ๆ ไปก็ย่อมจะขาดแคลนเงินสำหรับใช้สอยอันจะก่อให้เกิดการทุจริตต่อหน้าที่ราชการได้ง่าย จึงให้ห้ามข้าราชการและพนักงานองค์การรัฐบาลเล่นการลงแชร์เสียโดยให้ปฏิบัติดังนี้
                                        ๑. ให้ทุกหน่วยงานสำรวจว่าภายในสังกัดมีข้าราชการในบังคับบัญชาเล่นการลงแชร์หรือไม่ ถ้ามีก็ให้ทำบัญชีรายชื่อผู้เล่นไว้ให้ครบถ้วนทุกคน ตลอดจนกำหนดเวลาที่จะเสร็จสิ้นการเล่นการลงแชร์ของวงหนึ่ง ๆ ไว้ และเรียกผู้เล่นตามรายชื่อมาสั่งกำชับให้ทราบว่าเมื่อเสร็จสิ้นการเล่นแชร์ที่ค้างอยู่นี้แล้ว จะเล่นกันต่อไปไม่ได้โดยเด็ดขาด โดยให้ผู้เล่นลงนามรับทราบคำสั่งไว้ทุกคน อนึ่ง หากผู้เล่นเป็นข้าราชการตำรวจด้วยกัน แต่ต่างสังกัดกันก็ให้ผู้ที่เป็นหัวหน้าแชร์รายงานผ่านให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของตำรวจที่เล่นร่วมนี้ทราบ และจัดการกำชับกันต่อไป
                                        ๒. เมื่อจัดการตามข้อความในข้อก่อนแล้ว ผู้บังคับบัญชาทุกชั้นจะต้องคอยสดับรับฟังแล้วสอดส่องดูต่อไปว่า เมื่อเสร็จสิ้นกำหนดการเล่นดังกล่าวแล้วยังมีผู้ฝ่าฝืนกันอีกหรือไม่หากยังปรากฎว่ามีผู้ฝ่าฝืนเล่นกันอยู่อีก ก็ให้จัดการพิจารณาลงทัณฑ์ตามอำนาจต่อไป
                                        ๓. แม้หน่วยใดไม่มีผู้เล่นก็ตาม ก็ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นชี้แจงให้ข้าราชการในสังกัดให้ทราบซึ้งถึงความเสียหายของการเล่นแชร์ ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวโดยทั่วกันและคอยพยายามสดับตรับฟังสอดส่องและป้องกันอย่าให้มีการเล่นขึ้นได้โดยเด็ดขาดอยู่เสมอ
                                        ๔. ถ้าปรากฏว่าหน่วยใดยังปล่อยให้ข้าราชการเล่นกันโดยผู้บังคับบัญชาไม่กำชับหรือลงโทษผู้เล่นแล้ว ทางกรมจะถือว่าผู้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิดละเลยต่อการปฏิบัติตามคำสั่งนี้และจะได้พิจารณาดำเนินการลงทัณฑ์ตามที่เห็นควรต่อไป
                                  (๓)  เวลาสวมเครื่องแบบตำรวจห้ามสวมแว่นตาชนิดต่าง ๆ เว้นแต่
                                         ๑. ตำรวจผู้มีหน้าที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ในขบวนเสด็จ ขณะโดยเสด็จพระราชดำเนินผ่อนผันให้สวมแว่นกันฝุ่น เพื่อมิให้เกิดเหตุขัดข้องแก่การโดยเสด็จ
                                         ๒. ตำรวจผู้ควบคุมการจราจร ซึ่งต้องกรำแดดอยู่ตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่มีแดด
                                         ๓. ขณะที่มีหน้าที่ขับขี่ม้าหรือยวดยานไปในที่มีฝุ่น ลมหรือแดดจัด หรือในขณะที่นั่งไปในยวดยานที่ไม่มีบังลม ฝุ่นก็ให้ผ่อนผันสวมแว่นได้
                                        ๔. ผู้ที่ตาเจ็บ ซึ่งแพทย์แนะนำให้ใช้แว่นสี ก็ให้ผ่อนผันให้ใช้แว่นสีเฉพาะตามคำแนะนำของแพทย์ หรือผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจอนุญาตได้คือตั้งแต่ชั้นผู้บังคับกองหรือเทียบเท่าขึ้นไป เว้นแต่สถานีตำรวจที่มีเพียงตำแหน่งหัวหน้าสถานี ก็ให้หัวหน้าสถานีตำรวจเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
                                        ๕. ผู้ที่มีสายตาสั้นหรือตามเข้าแว่นเพราะสูงอายุ ผ่อนผันให้สวมแว่นตาสีขาวหรือสีมัว จะใช้แว่นสีอื่นไม่ได้
                                             การผ่อนผันให้ใช้แว่นสี มิให้ใช้ในกรณีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทหรือการรับเสด็จตลอดถึงการรักษาการณ์ขณะเสด็จผ่าน
                         (๔)  ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีในคณะข้าราชการตำรวจ
                                 ในข้อนี้หมายความตลอดถึงการวิวาทหรือเหตุร้าย กดขี่ข่มเหงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ฟ้องร้องซึ่งกันและกันยังโรงศาลก่อนได้รับอนุญาตหรือดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อจะทำให้ข้าราชการตำรวจแตกความสามัคคีซึ่งกันและกัน
                         (๕)  เกียจคร้าน ละทิ้งหน้าที่ หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
                                ข้าราชการตำรวจจะต้องเป็นผู้ขยันขันแข็งในการปฏิบัติหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายต้องไม่ผลัดวันประกันพรุ่งต่อหน้าที่การงานหรือทิ้งงานให้หมักหมมไว้ และจะต้องปฏิบัติงานโดยความพินิจพิเคราะห์ ขยันหมั่นเพียร พิจารณาเหตุผลเพื่อผลสำเร็จเป็นอย่างดีแห่งการงานในหน้าที่
                         (๖)  กล่าวเท็จ
                                เมื่อผู้บังคับบัญชาจะซักถามข้อความอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องตอบโดยความจริงทั้งสิ้น ห้ามมิให้กล่าวความเท็จถึงแม้ว่าตนจะได้กระทำผิดเองก็ดี ต้องชี้แจงเหตุผลนั้นโดยความสัตย์จริงอย่าปกปิดบังความผิดของตนไว้ การกล่าวเท็จหมายความรวมถึงการรายงานเท็จด้วย
                         (๗)  ใช้กิริยาวาจาไม่สมควรหรือประพฤติไม่สมควร
                                 ตำรวจต้องสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อยทั้งในและนอกสถานที่ราชการ ไม่ประพฤติหรือแสดงกิริยาวาจาในสิ่งที่อาจเกิดความเสียหายแก่ตนหรือหมู่คณะ เช่น
                                 (๑)  ในเวลาสดับพระธรรมเทศนา หรือในเวลาที่บุคคลส่วนมากสงบอารมณ์
                                 (๒)  ห้ามแสดงจำอวดหรือมหรสพหรือการเล่นใด ๆ ต่อหน้าประชาชนหรือที่สาธารณสถานโดยสถานการณ์อันไม่สมควร หรือประพฤติการใด ๆ อันอาจเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนขาดความเคารพนับถือยำเกรงแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
                                 (๓)  ตำรวจต้องประพฤติตนมิให้เกิดความรำคาญหรือความเสื่อมเสียแก่ผู้อื่นโดยความเห็นแก่ตัว
                                 (๔)  ห้ามรับเลี้ยงจากพ่อค้าที่กระทำธุรกิจกับหน่วยราชการของตนหรือจากผู้ที่มาติดต่อขออนุญาตหรือขอรับบริการจากทางราชการ หรือจากผู้ที่อาจได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ของตน
                                 (๕)  ห้ามแต่งเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่แสดงให้เห็นว่าเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร เข้าในไนท์คลับ สถานอาบอบนวด สถานอบายมุข หรือสถานเริงรมย์ต่าง ๆ ยกเว้น เพื่อปฏิบัติหน้าที่ราชการ
                                 (๖)  ห้ามรับเชิญไปเป็นประธานหรือเจ้าภาพในพิธีเปิดบริษัท ห้างร้านทางราชการของเอกชน
                                 (๗)  ห้ามออกบัตรเชิญ หรือประกาศเชิญเป็นการทั่วไป เพื่อการเลี้ยงในการเลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนแปลงยศหรือตำแหน่ง การเลี้ยงฉลองวันเกิด การฉลองขึ้นบ้านใหม่ และงานสังคมที่มิใช้เป็นประเพณี
                                 (๘)  ห้ามเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการหรือดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อื่นในบริษัทห้างร้านของเอกชน ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการยอมรับให้บริษัทห้างร้านของเอกชนเหล่านั้นอาศัยชื่อของตนเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยทางตรงหรือทางอ้อม
                                 (๙)  ห้ามมิให้ข้าราชการตำรวจนำครอบครัว บุตร ภรรยาหรือบุคคลใดเข้ามาในที่พักบริเวณสถานีตำรวจ หรือบนสถานีตำรวจ หรือในที่ทำการก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาผู้เป็นหัวหน้าผู้ปกครองสถานีตำรวจหรือหน่วยงานนั้น
                                 (๑๐) ตำรวจต้องรักษาวาจาเรียบร้อยเวลาจะพูดโต้ตอบกับผู้ใดต้องพูดให้ได้ยินถนัดชัดเจนไม่ซุบซิบอ้อมแอ้มในคอ คำพูดที่ใช้จะต้องพูดจาให้สภาพเรียบร้อย อ่อนหวานอนุโลมตามฐานานุรูปของบุคคลที่จะพูดด้วยนั้น ห้ามมิให้พูดจาหยาบโลน
                         (๘)  งดเว้นไม่ตักเตือนสั่งสอนหรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
                                เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาจะต้องปกครองบังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษสอดส่องความประพฤติและการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในปกครองทุกชั้น ให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม มีความประพฤติดี มีสมรรถภาพและวินัยอย่างเคร่งครัด การตรวจตราสอดส่องนี้ต้องสอดส่องทั้งในที่ทำการและนอกที่ทำการ หากพบตำรวจผู้ใดบกพร่องต้องตักเตือนสั่งสอน หรือพิจารณาลงโทษตามควรแต่กรณี หากตำรวจผู้ใดไม่ดี ไม่สมควรที่จะให้อยู่ในราชการตำรวจต่อไป ก็ให้ดำเนินการเพื่อกำจัดตำรวจที่ไม่ดีให้พ้นออกไปจากวงราชการของตำรวจ แต่การลงทัณฑ์นั้นต้องเป็นไปตามระเบียบแบบแผนของกรมตำรวจ ห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจโดยมิชอบทำร้ายผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น บีบจมูก ตบหน้า เตะต่อย ทุบตี หรือใช้งานตรากตรำจนเกินสมควร เป็นต้น เพราะเป็นการแสดงความโหดร้ายทารุณ ขาดความปราณี ซึ่งมิใช้คุณลักษณะของผู้บังคับบัญชาที่ดี
                         (๙)  เสพเครื่องดองของเมาจนเสียกิริยาหรือยาเสพติดให้โทษ
                                 เครื่องดองของเมา หมายตลอดถึงสุราและเมรัยทุกชนิด ซึ่งเมื่อดื่มกินเข้าไปแล้วจะเกิดความมืนเมาจนเสียกิริยา เป็นเหตุให้เกิดความดูหมิ่นขาดความเคารพและเชื่อถือตลอดจนอาจเกิดความเสียหายต่อหน้าที่ราชการ เว้นแต่การเสพเพียงเล็กน้อยตามกาละเทศะหรือตามประเพณีแห่งสังคม ซึ่งการเสพนั้นจะต้องระมัดระวังอย่าให้ถึงกับเสียกิริยา
                                  ส่วนยาเสพติดให้โทษนั้น หมายถึงยาเสพติดให้โทษทุกชนิด เช่น กัญชา ยาฝิ่น มอร์พีน เฮโรอีน และ โคเคอีน เป็นต้น
                         (๑๐)  มีความเลินเล่อ หรือจงใจทำให้ทรัพย์สินของทางรัฐบาลเสียหาย
                                   ทรัพย์สินของรัฐบาล หมายรวมตลอดถึงของหลวงที่จ่ายประจำตัว เช่น อาวุธปืนหรือที่จ่ายให้ใช้ราชการ เช่น ยานพาหนะต่าง ๆ เป็นต้น เหล่านี้ จักต้องดูแลรักษาไว้ให้ดีดุจดังเป็นทรัพย์สินของตนเอง
                         (๑๑)  จะเป็นคนเดียวหรือรวมกันหลายคนก็ตาม พยายามหรือสมคบกันเพื่อจะใช้อำนาจด้วยประการใด ๆ เป็นเชิงบังคับผู้บังคับบัญชาเป็นทางให้เสียระเบียบแบบแผนวินัยของตำรวจ
                                   ตำรวจต้องประพฤติตนเป็นผู้อ่อนน้อมต่อผู้บังคับบัญชา ไม่แสดงอาการกระด้างกระเดื่อง เมื่อเห็นว่าผู้บังคับบัญชาปฏิบัติไม่ชอบหรือสั่งการไม่ชอบก็ต้องเสนอความเห็นทัดทานหรือรายงานผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกเพื่อวินิจฉัยสั่งการ ข้าราชการตำรวจจะต้องไม่แสดงปฏิกิริยาอย่างใด ๆ ด้วยตนเองหรือรวมกันหลายคน เพื่อจะใช้อำนาจในทางมิชอบเป็นเชิงบังคับเพราะการปฏิบัติเช่นนี้เป็นการทำให้เสียหายต่อการปกครองบังคับบัญชา
                         (๑๒)  ประพฤติผิดวินัยข้าราชการพลเรือน ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ คือ
                                   ๑. ต้องรักษาวินัยโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย จักต้องได้รับโทษตามที่บัญญัติไว้
                                   ๒. ต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
                                   ๓. ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรม
                                        ห้ามมิให้อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการของตน ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น
                                       การปฏิบัติหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
                                   ๔. ต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฏหมาย ระเบียบของทางราชการและมติคณะรัฐมนตรี ให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ ด้วยความอุตสาหะเอาใจใส่และระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ
                                        การประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ หรือปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ หรือมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
                                   ๕. ต้องถือว่าเป็นหน้าที่พิเศษที่จะสนใจและรับทราบเหตุการณ์เคลื่อนไหวอันอาจเป็นภยันตรายต่อประเทศชาติ และต้องป้องกันภยันตรายซึ่งจะบังเกิดแก่ประเทศชาติจนเต็มความสามารถ
                                   ๖.  ต้องรักษาความลับของทางราชการ
                                         การเปิดเผยความลับของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
                                   ๗.  ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการห้ามมิให้ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง
                                         การขัดคำสั่งหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแต่ราชการอย่างร้ายแรงเป็นผิดวินัยอย่างร้ายแรง
                                   ๘.  ต้องปฏิบัติราชการโดยมิให้เป็นการกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตนเว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำ หรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษครั้งคราว
                                   ๙.  ต้องไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา การรายงานโดยปกปิดข้อความซึ่งควรต้องบอก ถือว่าเป็นรายงานเท็จด้วย
                                         การรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
                                 ๑๐.  ต้องถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการ
                                 ๑๑.  ต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการมิได้
                                         การละทิ้งหน้าที่ราชการ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
                                 ๑๒.  ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องสุภาพเรียบร้อย และรักษาความสามัคคีระหว่างข้าราชการ และช่วยเหลือซึ่งกันในหน้าที่ราชการ
                                 ๑๓.  ต้องสุภาพเรียบร้อย ต้อนรับ ให้ความสะดวกให้ความเป็นธรรมและให้ความสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้มาติดต่อในราชการอันเกี่ยวกับหน้าที่ของตนโดยไม่ชักช้า ห้ามมิให้ดูหมิ่นเหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงราษฎร
                                         การดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ข่มเหงราษฎร เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
                                 ๑๔.  ต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์อันอาจทำให้ความเสียเที่ยงธรรม หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน
                                 ๑๕.  ต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการหรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
​                                 ๑๖.  ต้องไม่เป็นกรรมการพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
                                 ๑๗.  ต้องไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว เช่น ประพฤติตนเป็นคนเสพของมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้ หมกมุ่นในการพนัน กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใด ซึ่งอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน
                                          การกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษหนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือกระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
​                                ๑๘.  ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ส่งเสริม และดูแลระมัดระวังให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามวินัย
                                         ​ถ้าผู้บังคับบัญชารู้ว่าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาคนใดกระทำผิดวินัย จะต้องดำเนินการทางวินัยทันที ถ้าเห็นว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยที่จะต้องได้รับโทษและอยู่ในอำนาจของตนที่จะลงโทษได้ให้สั่งลงโทษ แต่ถ้าเห็นว่าผู้นั้นควรจะต้องได้รับโทษสูงกว่าที่ตนมีอำนาจสั่งลงโทษ ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำผิดวินัยเหนือขึ้นไป เพื่อให้พิจารณาการสั่งลงโทษตามควรแก่กรณี
                                         ​ผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่ตามมาตรานี้ โดยไม่สุจริตให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย