วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2557

การสอบสวนทางวินัยตำรวจ

ขั้นตอนการสอบสวนข้อเท็จจริง (โดยย่อ)
ตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๔๗
            -  ใช้สำหรับการสอบสวนพิจารณาข้าราชการตำรวจซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตาม ม.๘๖ วรรคหนึ่ง หรือมีกรณีถูกกล่าวหา หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ ฯลฯ ตาม ม.๑๐๑ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗  (ข้อ ๒)
            -  ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและคณะกรรมการสอบสวน ไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม  (ข้อ ๓)
            -  คณะกรรมการสอบสวน มีอย่างน้อย ๓ คน ต้องมีประธานกรรมการ และเลขานุการหนึ่งคน  (ข้อ ๔)
            -  คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้มีสาระสำคัญตาม แบบ สว.๑    (ข้อ ๕)
            -  ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ต้องแจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็ว และส่งสำเนาคำสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนทราบ  (ข้อ ๖)
            -  ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน สามารถเปลี่ยน เพิ่ม ลด กรรมการสอบสวนได้  (ข้อ ๗)
-------------------------หน้าที่คณะกรรมการสอบสวน--------------------------
            -  ต้องสอบสวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้    (ข้อ ๘)
            -  ต้องรวบรวมประวัติและความประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหา   (ข้อ ๙)
            -  จัดทำบันทึกการปฏิบัติไว้ทุกครั้ง   (ข้อ ๑๐)
            -  ห้ามบุคคลอื่นเข้าร่วมทำการสอบสวน   (ข้อ ๑๑)
            -  ประธานกรรมการ ต้องจัดประชุมคณะกรรมการฯเพื่อพิจารณาวางแนวทางการสอบสวน  (ข้อ ๑๒)
            -  ต้องมีกรรมการฯ มาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เว้นแต่การประชุมตามข้อ ๑๘ , ๓๑ ต้องไม่น้อยกว่าสามคนและไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง การลงมติให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงชี้ขาด  (ข้อ ๑๓)
            -  กรรมการฯผู้ใดเห็นว่าตนมีเหตุอันอาจถูกคัดค้านตาม ข้อ ๓๗ วรรคหนึ่ง ให้รายงานต่อผู้สั่งแต่งตั้งฯ  (ข้อ ๑๔)

------------------------------ระยะเวลาการสอบสวน----------------------------
            -  ให้ทำการประชุม(ครั้งแรก)หลังลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งฯ ภายใน ๑๕ วัน   (ข้อ ๑๕ (๑))
            -  ให้เรียกผู้ถูกกล่าวหามาแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาให้ทราบ หลังคณะกรรมการฯรับทราบคำสั่งฯ ภายใน ๑๕ วัน   (ข้อ ๑๕(๑), ๑๗)
            -  ให้รวบรวมพยานหลักฐานให้เสร็จสิ้นภายใน ๖๐ วัน นับแต่การประชุมครั้งแรกและแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาแล้วเสร็จ   (ข้อ ๑๕(๒))
            -  ให้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ ภายใน ๑๕ วัน นับแต่รวบรวมพยานหลักฐานแล้วเสร็จ    (ข้อ ๑๕(๓))
            -  ให้รวบรวมพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างให้เสร็จสิ้นภายใน ๖๐ วัน นับแต่แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้วเสร็จ   (ข้อ ๑๕(๔))
            -  กรณีไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้คณะกรรมการฯรายงานเหตุให้ผู้สั่งแต่งตั้งฯ เพื่อขอขยายระยะเวลาการสอบสวน ผู้สั่งแต่งตั้งฯสั่งขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็นครั้งละไม่เกิน ๖๐ วัน
            -  หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายใน ๒๗๐ วัน ให้ประธานกรรมการรายงานเหตุให้ผู้สั่งแต่งตั้งฯ ทราบ และให้ผู้สั่งแต่งตั้งฯ ติดตามเร่งรัดการสอบสวนต่อไป      (ข้อ ๑๕ ว.ท้าย)
-------------------------------แนวทางการสอบสวน-----------------------------------
            -  การนำเอกสารหรือวัตถุมาเป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนให้บันทึกว่าได้มาอย่างไร จากผู้ใด เมื่อใด     (ข้อ ๑๖)
            -  เมื่อวางแนวทางการสอบสวนแล้วให้เรียกผู้ถูกกล่าวหามาเพื่อแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิให้ทราบตาม แบบ สว.๒ มอบให้ผู้ถูกกล่าวหา ๑ ฉบับ เก็บไว้ในสำนวน ๑ ฉบับ     (ข้อ ๑๗)
            -  ให้ถามว่าได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร
            -  กรณีรับสารภาพ ให้แจ้งให้ทราบว่า เป็นความผิดวินัยกรณีใดหรือหย่อนความสามารถอย่างไร และบันทึกถ้อยคำรับสารภาพรวมทั้งเหตุผล และสาเหตุแห่งการกระทำ เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จให้ประชุมพิจารณาลงมติ
            -  กรณีปฏิเสธหรือรับสารภาพบางส่วน ให้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วประชุมเพื่อพิจารณาต่อไป
            -  กรณีไม่ยอมลงลายมือชื่อ หรือไม่มารับทราบข้อกล่าวหา ให้ทำ แบบ สว.๒ เป็นสามฉบับ โดยส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาสองฉบับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ๒ ฉบับ พร้อมหนังสือสอบถามคำให้การ หากไม่ได้รับ แบบ สว.๒ คืน ล่วงพ้น ๑๕ วัน ให้ถือว่าได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว
------------------เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเสร็จ---------------------
            -  ให้ดำเนินการประชุม(ครั้งที่ ๒)เพื่อพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานใดสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร      (ข้อ ๑๘)
            -  ถ้าเห็นว่า ยังฟังไม่ได้ว่ากระทำการตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประชุมพิจารณาลงมติมีความเห็นยุติเรื่อง
            -  ถ้าเห็นว่า เป็นความผิดวินัยฐานใด มาตราใด หรือหย่อนความสามารถอย่างไร ก็ให้เรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ทราบ โดยให้ทำบันทึกตาม แบบ สว.๓ ทำเป็นสองฉบับ ให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อ
             -  การแจ้งข้อกล่าวหาฯ ให้ระบุวันเวลาสถานที่ และการกระทำที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนข้อกล่าวหา สำหรับพยานบุคคลจะระบุ หรือไม่ระบุ ชื่อพยาน ก็ได้ โดยให้คำนึงถึงหลัการคุ้มครองพยาน เท่าที่มีตามที่ปรากฎในสำนวน
             -  ให้ถามผู้ถูกกล่าวหาว่าจะยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือหรือไม่ ให้โอกาสยื่นอย่างช้าไม่เกิน ๑๕ วัน หากไม่ยื่น ก็ให้ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาโดยเร็ว เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จให้ประชุมพิจารณาลงมติ
             -  กรณีไม่ยอมลงลายมือชื่อ หรือไม่มารับทราบข้อกล่าวหา ให้ทำ แบบ สว.๓ เป็นสามฉบับ โดยส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาสองฉบับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ๒ ฉบับ พร้อมหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงนัดมาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา หากไม่ได้รับ แบบ สว.๓ คืน ล่วงพ้น ๑๕ วัน ให้ถือว่าไม่ประสงค์ที่จะแก้ข้อกล่าวหา แต่ถ้ามีเหตุผลอันสมควรก็ให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำหรือยื่นคำชี้แจงได้
             -  เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จ ก่อนเสนอสำนวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งฯ ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ให้ดำเนินการได้ ถ้าเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหา ก็ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่จะให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้เฉพาะพยานหลักฐานเพิ่มเติมนั้น     (ข้อ ๑๙)
-----------------------------วิธีการสอบปากคำ----------------------------------
             -  ในการสอบปากคำต้องมีกรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง   (ข้อ ๒๐)
             -  ก่อนเริ่มสอบปากคำพยาน ต้องแจ้งให้ทราบว่ากรรมการสอบสวนมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน   (ข้อ ๒๑)
             -  ห้ามมิให้ล่อลวง ขู่เข็ญ ให้สัญญา หรือกระทำการใดเพื่อจูงใจให้ให้ถ้อยคำ     (ข้อ ๒๒)
             -  ให้เรียกผู้ถูกกล่าวหาและพยานเข้ามาในที่สอบสวนคราวละหนึ่งคน ห้ามมิให้บุคคลอื่นอยู่ในที่สอบสวน เว้นแต่ทนายความหรือที่ปรึกษาของผู้ถูกกล่าวหา และใช้บันทึกถ้อยคำตาม แบบ สว.๔ หรือ แบบ สว.๕ หากมีการขีดฆ่าตกเติมให้ผู้ให้ถ้อยคำร่วมลงลายมือชื่อกำกับด้วย   (ข้อ ๒๓)
             -  พยานมาแต่ไม่ให้ถ้อยคำหรือไม่มา หรือการสอบสวนจะล่าช้าหรือมิใช่พยานหลักฐานในประเด็นสำคัญจะไม่สอบพยานนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกการปฏิบัติงาน และรายงานการสอบสวน      (ข้อ ๒๔, ๒๕)
             -  ส่งประเด็นไปให้หัวหน้าหน่วยงานต่างท้องที่นั้นสอบสวนแทนได้ โดยหัวหน้าหน่วยงานเลือกข้าราชการตำรวจอย่างน้อยอีกสองคนร่วมเป็นคณะทำการสอบสวน   (ข้อ ๒๖)
             -  กรณีมีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งแต่งตั้งฯ หรือมีข้าราชการตำรวจอื่นมีส่วนร่วมกระทำการในเรื่องที่สอบสวนนั้นด้วย ให้ประธานฯรายงานไปยังผู้สั่งฯโดยเร็ว เพื่อสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่หรือคณะเดิมก็ได้ และแยกเป็นสำนวนการสอบสวนใหม่ก็ได้    (ข้อ ๒๗, ๒๘)
             -  ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และข้อเท็จจริงที่ปรากฎได้ความประจักษ์ชัด ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาโดยไม่ต้องสอบพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา แล้วแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ        (ข้อ ๒๙)
             -  ถ้าผู้ถูกกล่าวหาไปอยู่นอกบังคับบัญชาของผู้สั่งฯ ให้สอบสวนต่อไปจนเสร็จ แล้วเสนอผู้สั่งฯ เพื่อส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่หรือมีอำนาจพิจารณาสั่งการสำหรับผู้ถูกกล่าวหาทุกคน ตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนการสอบสวน       (ข้อ ๓๐)

บทความที่เกี่ยวข้อง
- การพิจารณาสำนวนการสอบสวนทางวินัย