วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2557

การพิจารณาสำนวนการสอบสวนทางวินัยตำรวจ

การพิจารณาสำนวนการสอบสวน (โดยย่อ)
ตาม กฏ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนและพิจารณา พ.ศ.๒๕๔๗
---------------------------การทำรายงานการสอบสวน----------------------------
-  ให้คณะกรรมการฯประชุมพิจารณาลงมติ(ครั้งสุดท้าย)เมื่อสอบสวนเสร็จ ดังนี้        (ข้อ ๓๑)
        (๑)  ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือไม่ กรณีใด มาตราใด ควรรับโทษสถานใด
        (๒)  กรณีกระทำผิดวินัย อันมิใช่ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ บกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือไม่ อย่างไร
        (๓)  กรณีไม่ได้ความแน่ชัดว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดอย่างร้ายแรงที่จะถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออกแต่มีมลทินมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนนั้น หากจะให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการและควรให้ออกจากราชการตามมาตรา ๑๐๒ หรือไม่ อย่างไร
-  ให้ทำรายงานการสอบสวนตาม แบบ สว.๖ กรรมการฯผู้ใดมีความเห็นแย้งให้ทำความเห็นแย้งแนบไว้กับรายงานการสอบสวน       (ข้อ ๓๒)
-  รายงานการสอบสวนอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังนี้
        (๑)  สรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่ามีอย่างใดบ้าง กรณีที่ไม่ได้สอบสวนพยานหลักฐานเนื่องจากพยานไม่มาหรือจะทำให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น ให้รายงานเหตุให้ปรากฎไว้
        (๒)  วินิจฉัยเปรียบเทียบพยานหลักฐานที่สนับสนุน กับที่หักล้างข้อกล่าวหา
        (๓)  ความเห็นว่า ได้กระทำผิดวินัยหรือไม่ ถ้าไม่ผิดให้เสนอยุติเรื่อง ถ้าผิดให้ระบุการกระทำผิด ดั่งหัวข้อการประชุมพิจารณาลงมติข้างต้น
-  เมื่อทำรายงานการสอบสวนแล้ว ให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งสารบาญต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไปและให้ถือว่าการสอบสวนเสร็จ
--------------------------การพิจารณาสั่งสำนวนการสอบสวน-----------------------------
-  ผู้สั่งแต่งตั้งฯ ตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนการสอบสวนว่า การสอบสวนมิชอบหรือบกพร่องหรือไม่     (ข้อ ๓๓)
-  ผู้สั่งแต่งตั้งฯ หรือผู้มีอำนาจ กำหนดประเด็นให้สอบสวนเพิ่มเติมได้ ถ้าคณะกรรมการฯไม่อาจทำได้ ก็ให้ตั้งคณะกรรมการฯชุดใหม่ขึ้นทำการสอบสวนเพิ่มเติมก็ได้ เมื่อเสร็จแล้วให้สั่งไปให้ผู้สั่งฯโดยทำความเห็นที่ได้จากการสอบสวนเพิ่มเติมประกอบไปด้วย      (ข้อ ๓๔)
-  กรณีเป็นการสอบสวนตามมาตรา ๑๐๑ (หย่อนความสามารถ) และปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ผู้มีอำนาจ สั่งการตามผลการสอบสวนโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือดำเนินการสอบสวนใหม่ แต่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย         (ข้อ ๓๕)
-  การพิจารณาสั่งสำนวนการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน ๒๔๐ วัน นับแต่วันได้รับสำนวน เว้นมีเหตุจำเป็น ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน ๒ ครั้ง ๆ ละไม่เกิน ๖๐ วัน หากไม่แล้วเสร็จ ให้ผู้ถูกกล่าวหากลับคืนสู่ฐานะเดิมและให้ถือว่าไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างสอบสวนนับแต่วันครบกำหนดเวลาดังกล่าวจนกว่าการพิจารณาสั่งการในเรื่องนั้นจะเสร็จสิ้นและมีคำสั่ง        (ข้อ ๓๖)
-  กรณีผู้มีอำนาจฯจะสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก ให้ผู้มีอำนาจฯ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อน
-  การพิจารณาพยานหลักฐาน ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาตามที่ได้แจ้งให้ผู้ถูกล่าวหาทราบและให้โอกาสที่จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้วเท่านั้น หากมีพยานหลักฐานนอกเหนือที่สามารถรับฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ จะต้องดำเนินการให้มีการแจ้งสรุปพยานหลักฐานในส่วนที่เพิ่มเติมและให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วย
-----------------------การสอบสวนที่มิชอบและบกพร่อง---------------------------
-  การสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯไม่ถูกต้อง เช่น น้อยกว่า ๓ คน มีข้าราชการตำรวจน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ประธานกรรรมการดำรงตำแหน่งน้อยกว่าผู้ถูกกล่าวหา ให้การสอบสวนทั้งหมดเสียไป กรณีเช่นนี้ ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งใหม่ให้ถูกต้อง            (ข้อ ๓๙)
-  กรณีที่ทำให้การสอบสวนเฉพาะตอนนั้น เสียไป กรณีดังต่อไปนี้ ให้ผู้มีอำนาจฯ สั่งให้คณะกรรมการดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว       (ข้อ ๔๐)
        (๑)  คณะกรรมการมาประชุมน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
        (๒)  การสอบปากคำดำเนินการไม่ถูกต้อง เช่น
                -  มีบุคคลอื่นเข้าร่วมสอบสวน
                -  มีกรรมการฯทำการสอบปากคำน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
                -  มีการจูงใจให้บุคคลให้ถ้อยคำอย่างใดๆ มีบุคคลอื่นยกเว้นทนายความหรือที่ปรึกษาอยู่ในที่สอบสวน
                -  เรียกผู้ซึ่งถูกสอบปากคำเข้ามาในที่สอบสวนเกินคราวละ ๑ คน
                -  การส่งประเด็นสอบสวน ไม่รายงานผู้สั่งตั้งฯ หรือคณะทำการสอบสวนไม่ประกอบไปด้วยหัวหน้าหน่วยงานและข้าราชการตำรวจอย่างน้อยอีก ๒ คน
                -  ผู้ถูกกล่าวหานำทนายความหรือที่ปรึกษาเข้าร่วมฟังการสอบสวนเกิน ๑ คน หรือให้ถ้อยคำแทน
-  กรณีที่ปรากฏว่า คณะกรรมการฯ ไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้ ให้ผู้มีอำนาจฯสั่งคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว และต้องให้โอกาสผูถูกกล่าวหาที่จะชี้แจงให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาตามที่กำหนดไว้ด้วย       (ข้อ ๔๑)
         (๑)  ไม่เรียกผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา
         (๒)  ไม่ส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาไปให้ผู้ถูกกล่าวหา
         (๓)  ไม่มีหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง หรือนัดมาให้ถ้อยคำ หรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหา
-  ในกรณีผู้มีอำนาจสั่งลงโทษไปตามบทมาตราหรือฐานความผิดที่แตกต่างจากที่แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ แต่ไม่ได้หลงข้อต่อสู้ หรือไม่เสียความเป็นธรรม ให้ถือว่าการสอบสวนและพิจารณานั้นใช้ได้
-  ในกรณีที่ปรากฏว่าการสอบสวนตอนใดทำไม่ถูกต้องนอกเหนือที่กล่าวมา แต่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ให้ผู้มีอำนาจฯ สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว      (ข้อ ๔๒)
-  การนับระยะเวลา เวลาเริ่มต้นให้นับวันถัดจากวันแรก แต่ถ้าเป็นกรณีขยายเวลาให้นับต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิม ส่วนเวลาสิ้นสุดถ้าตรงกับวันหยุดราชการให้นับวันเริ่มเปิดทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา
บทความที่เกี่ยวข้อง
การสอบสวนทางวินัยตำรวจ