วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การอุทธรณ์เมื่อถูกสั่งลงโทษ (โดยย่อ)

พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗
ลักษณะ ๖  ระเบียบข้าราชการตำรวจ
หมวด ๘  การอุทธรณ์
               มาตรา ๑๐๕  ข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกสั่งลงโทษ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ได้ดังต่อไปนี้
               (๑) กรณีถูกสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงโทษ  แต่ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์ต่อ ก.ตร.
               (๒) กรณีถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.ตร.
               การอุทธรณ์ตาม (๑) และ (๒) ให้อุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
               ระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ตาม (๑) และ (๒) ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่ มีเหตุจำเป็นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. ที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินหกสิบวัน
               หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.

กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ.๒๕๔๗
                ข้อ ๒  การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยและคำสั่งให้ออกจากราชการ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗  ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน กฏ ก.ตร. นี้
                ในกรณีที่เป็นการลงโทษทางวินัยหรือสั่งให้ออกจากราชการตามกฎหมายอื่นซึ่งกำหนดเรื่องการอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะก็ให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น  หากกฎหมายนั้นไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะก็ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาอุทธรณ์ตาม กฎ ก.ตร.  ฉบับนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ข้อ ๓  ข้าราชการตำรวจผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
                  ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์  ทายาทผู้มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดของผู้นั้นมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งแทนได้ภายใต้กำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
                  ระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์  ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จและแจ้งผู้อุทธรณ์ทราบภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์  เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ ก.ตร. ที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว  ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินหกสิบวัน
                ข้อ ๕  การใช้สิทธิอุทธรณ์กรณีถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการให้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.ตร.
                  ในการใช้สิทธิตามวรรคหนึ่ง ผู้อุทธรณ์จะขอแถลงการณ์ด้วยวาจาเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.ตร. ก็ได้  โดยแสดงความประสงค์ไว้ในหนังสืออุทธรณ์  หรือจะทำเป็นหนังสือต่างหาก แต่ต้องยื่นหนังสือนั้นต่อ ก.ตร.  โดยตรงภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ยื่นหนังสืออุทธรณ์  หาก ก.ตร. พิจารณาเห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์จะไม่อนุญาตให้ผู้อุทธรณ์เข้าแถลงการณ์ด้วยวาจาก็ได้

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วินัยตำรวจอย่างไม่ร้ายแรงและร้ายแรง

                                       พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗   

             การกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ได้แก่ การไม่รักษาวินัยตามที่บัญญัติเป็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามในเรื่องดังต่อไปนี้  (ม.๗๘)
             (๑)  ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และเที่ยงธรรม เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีจรรยาบรรณของตำรวจ และนโยบายของรัฐบาลโดยไม่ให้เสียหายแก่ราชการ
             (๒)  ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะทำให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ จะเสนอความเห็นเป็นหนังสือทันทีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้นก็ได้ และเมื่อได้เสนอความเห็นแล้ว ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตาม
             (๓)  ต้องรักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
             (๔)  ต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการมิได้
             (๕)  ต้องปฏิบัติราชการโดยมิให้เป็นการกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่ ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำ หรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษชั่วครั้งคราว
             (๖)  ต้องรักษาความลับของทางราชการ
             (๗)  ต้องสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคี และไม่กระทำการอย่างใดที่เป็นการกลั่นแกล้งกันและต้องช่วยเหลือกันในการปฏิบัติราชการ ระหว่างข้าราชการด้วยกัน และผู้ร่วมปฏิบัติราชการ
             (๘)  ต้องต้อนรับ ให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรมและให้การสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้ติดต่อราชการ หรือในการปฏิบัติราชการเกี่ยวกับหน้าที่ของตนโดยไม่ชักช้า และด้วยความสุภาพเรียบร้อยโดยห้ามมิให้ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่หรือข่มเหงประชาชนผู้ติดต่อราชการหรือในการปฏิบัติราชการเกี่ยวกับหน้าที่ของตน
             (๙)  ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เพื่อให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ และต้องไม่ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ
            (๑๐)  ต้องไม่กระทำการอันเป็นเหตุให้แตกความสามัคคีระหว่างข้าราชการตำรวจ
            (๑๑)  ต้องไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา การรายงานโดยปกปิดข้อความซึ่งควรต้องแจ้งถือว่าเป็นการรายงานเท็จด้วย
            (๑๒)  ต้องไม่ใช้กิริยาวาจาหรือประพฤติตนในลักษณะที่ไม่สมควร
            (๑๓)  ต้องไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว
            (๑๔)  ต้องไม่กระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการบังคับผู้บังคับบัญชาเป็นทางให้เสียระเบียบแบบแผนวินัยตำรวจ
            (๑๕)  ต้องไม่กระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการหรือทำให้เสียระเบียบแบบแผนของตำรวจ
            (๑๖)  ต้องไม่กระทำการ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการ หาผลประโยชน์อันอาจทำให้เสียความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน
            (๑๗)  ต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
            (๑๘)  กระทำการหรือไม่กระทำการตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.

ขั้นตอนการสืบสวนข้อเท็จจริง ตาม กฎ ก.ตร.

ขั้นตอนการสืบสวนข้อเท็จจริง (โดยย่อ)

             -  ให้ยกเลิก กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง พ.ศ.๒๕๔๗ (ข้อ ๒)
             -  เมื่อมีการกล่าวหา หรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่า ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งการไปภายในอำนาจได้โดยไม่ต้องสืบสวนข้อเท็จจริงก็ได้ ดังนี้
                 (๑)  ไม่มีมูล หรือ
                 (๒)  มีมูลเพียงพอที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง หรือ
                 (๓)  มีพยานหลักฐานฟังได้ว่าผู้กล่าวหากระทำผิดวินัยและสามารถสั่งการได้ในกรณีเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง (ข้อ ๓)
             -  การสืบสวนข้อเท็จจริง หมายถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งพฤติการณ์และการกระทำว่า ข้าราชการตำรวจผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำผิดวินัยตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ (ข้อ ๔)
             -  ภายใต้บังคับข้อ ๓ กรณีที่ควรสืบสวนข้อเท็จจริง ข้าราชการตำรวจในบังคับบัญชาผู้ใดกระทำผิดวินัย มีดังนี้  (ข้อ ๕)
                 (๑)  ผู้บังคับบัญชามีเหตุอันควรสงสัย
                 (๒)  มีผู้ร้องเรียนกล่าวหา โดยผู้ร้องเรียนได้แจ้งชื่อที่อยู่ของตนเองเป็นที่แน่นอน พร้อมระบุพฤติการณ์แห่งกรณีที่กล่าวหา
                 (๓)  ส่วนราชการอื่นหรือหน่วยงานอื่นแจ้งให้ทราบว่า ผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือสงสัย
                 (๔)  มีบัตรสนเท่ห์กล่าวหา โดยระบุพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร ชี้แนะแนวทางเพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนได้
                 (๕)  กรณีปรากฏเป็นข่าวในสื่่อมวลชนใด ๆ โดยระบุข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน กรณีแวดล้อม และหรือพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร ชี้แนะแนวทางเพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนได้
                 (๖)  กรณีอื่นๆ ที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรให้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง
              -  ให้ผู้บังคับบัญชาระดับสารวัตรหรือเทียบเท่าขั้นไป ดำเนินการสืบสวนด้วยตนเอง หรือแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน หรือสั่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำการสืบสวน หรือส่งประเด็นให้เจ้าพนักงานอื่นทำการสืบสวนก็ได้ (ข้อ ๖)
              -  เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนเรื่องหนึ่งเรื่องใดไปแล้ว ห้ามมิให้สั่งสืบสวนในเรื่องเดียวกันนั้นอีก (ข้อ ๗)
              -  กรณีมีผู้ร้องเรียน หรือส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นแจ้งมาตามข้อ ๕ (๒) และ (๓) ให้แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้นๆ ทราบทุกรณีโดยมิชักช้า  (ข้อ ๘)
              -  ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน หรือผู้สั่งให้สืบสวน(ยกเว้นนายกรัฐมนตรี) และคณะกรรมการสืบสวน หรือผู้สืบสวน ต้องไม่เป็นบุคคลดังนี้
                  (๑)  รู้เห็นเหตุการณ์ในเรื่องที่สืบสวน(กรณีผู้สั่งแต่งตั้งฯหรือผู้สั่งให้สืบสวนต้องไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิด)
                  (๒)  มีส่วนได้เสียในเรื่องที่สืบสวน
                  (๓)  มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกสืบสวน
                  (๔)  เป็นผู้ร้องเรียนกล่าวหาหรือเป็นคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือมารดา กับผู้ร้องเรียนกล่าวหา
                  (๕)  มีเหตุอย่างอื่นซึ่งน่าเชื่ออย่างยิ่งว่าจะทำให้การสืบสวนเสียความเป็นธรรม (ข้อ ๙)

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จรรยาบรรณตำรวจ ในการสืบสวนสอบสวน

จรรยาบรรณของตำรวจ (ข้อ ๑๙, ๒๑)

  ตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2551 

(แก้ไขตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553)

              ในการรวบรวมพยานหลักฐาน การสืบสวนสอบสวน การสอบปากคำ หรือการซักถามผู้กระทำความผิด ผู้ต้องหา ผู้ที่อยู่ในความควบคุมตามกฎหมาย ผู้เสียหาย ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ หรือบุคคลอื่น
              ข้าราชการตำรวจต้องแสดงความเป็นมืออาชีพ โดยใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาการตำรวจ รวมทั้งใช้ปฏิภาณไหวพริบและสติปัญญา เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง และธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ซึ่งต้องประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
               (๑)  ไม่ทำการทารุณ หรือทารุณกรรมต่อบุคคล หรือต่อบุคคลอื่น ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลนั้น
               (๒)  ไม่ใช้ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือปล่อยปละละเลย ให้มีการทารุณหรือทารุณกรรมต่อบุคคล หรือต่อบุคคลอื่น ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลนั้น
               (๓)  ไม่กระทำการข่มขู่ หรือรังควาน หรือไม่ใช้อำนาจที่มิชอบ หรือแนะนำเสี้ยมสอนบุคคล ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือปรักปรำผู้อื่น
               (๔)  ไม่กักขัง หรือหน่วงเหนี่ยว บุคคลที่ยังไม่ได้ถูกจับกุมตามกฎหมาย เพื่อการสอบปากคำ
               (๕) ไม่ใช้อำนาจที่มิชอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน

          ข้อมูลข่าวสารที่ข้าราชการตำรวจได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ข้างต้น หรือจากการปฏิบัติหน้าที่อื่น ข้าราชการตำรวจจะต้องรักษาข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นความลับ อย่างเคร่งครัด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์หรือชื่อเสียงของบุคคล หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษทั้งต่อผู้เสียหายหรือผู้กระทำความผิด
          ข้าราชการตำรวจจะเปิดเผยข้อมูลนั้นได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเพื่อประโยชน์ในราชการตำรวจที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเพื่อการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จรรยาบรรณของตำรวจ

กฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ.๒๕๕๑ 
(แก้ไขตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๓)

             จรรยาบรรณของตำรวจ คือ ประมวลความประพฤติในการปฏิบัติหน้าที่ของวิชาชีพตำรวจ อยู่ในกรอบของศีลธรรมและคุณธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นแนวทางชี้นำให้ข้าราชการตำรวจบรรลุถึงปณิธานของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์                        
              ๑.  ต้องสำนึกในการให้บริการประชาชนด้านอำนวยความยุติธรรม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประชาชนมีความเลื่อมใส เชื่อมั่นและศรัทธา  ซึ่งต้องประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
                    (๑) อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการร้องทุกข์ กล่าวโทษ ขออนุญาตขอข้อมูลข่าวสาร หรือติดต่อราชการอื่น ด้วยความเต็มใจ เป็นมิตร ไม่เลือกปฏิบัติ และรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ประชาชนเสียสิทธิหรือเสรีภาพตามกฎหมาย
                    (๒) สุภาพ อ่อนน้อม และให้เกียรติประชาชนเพื่อให้เกิดความน่าเคารพยำเกรง ไม่ใช้ถ้อยคำ กริยา หรือท่าทาง ที่มีลักษณะหยาบคาย ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามประชาชน
                    (๓) ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ต้องดำรงตนให้อยู่ในสภาพที่พร้อมและเหมาะสม แก่การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจ
                    (๔) พกพาอาวุธตามระเบียบแบบแผน ไม่จับหรือถืออาวุธ หรือเล็งอาวุธไปยังบุคคลโดยปราศจากเหตุอันสมควร
                    (๕) พกพาเอกสารหรือตราประจำตัว และแสดงเอกสารหรือตราประจำตัวเมื่อมีบุคคลร้องขอ
              ๒.  เมื่อเข้าจับกุมหรือระงับการกระทำผิด ข้าราชการตำรวจต้องยึดถือและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัด  ซึ่งต้องประพฤติปฏิบัติ ดังนี้ 
                    (๑) แสดงถึงการอุทิศตนและจิตใจให้แก่การปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญและมีสติปัญญา
                    (๒) ยืนหยัดเจตนารมณ์ในการรักษากฎหมายให้ถึงที่สุด และดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ให้ระลึกเสมอว่าการใช้กฎหมายจะต้องคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมด้วย
                    (๓) ไม่ใช้มาตรการรุนแรง เว้นแต่การใช้มาตรการปกติแล้ว ไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องสงสัยได้
              ๓.  ต้องตระหนักว่า การใช้อาวุธ กำลัง หรือความรุนแรงเป็นมาตรการที่รุนแรงที่สุด ข้าราชการตำรวจอาจใช้อาวุธ กำลัง หรือความรุนแรง ได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นภายใต้กรอบของกฎหมายและระเบียบแบบแผน หรือเมื่อผู้กระทำความผิด หรือผู้ต้องสงสัยใช้อาวุธต่อสู้ขัดขวางการจับกุม หรือเพื่อช่วยบุคคลอื่นที่อยู่ในอันตรายต่อชีวิต เมื่อมีการใช้อาวุธ กำลัง หรือความรุนแรง ไม่ว่าจะมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ ข้าราชการตำรวจต้องรายงานเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาตามระเบียบแบบแผนทันที
              ๔.  ในการรวบรวมพยานหลักฐาน การสืบสวนสอบสวน การสอบปากคำ หรือการซักถามผู้กระทำความผิด ผู้ต้องหา ผู้ที่อยู่ในความควบคุมตามกฎหมาย ผู้เสียหาย ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ หรือบุคคลอื่น ข้าราชการตำรวจต้องแสดงความเป็นมืออาชีพโดยใช้ความรู้ ความสามารถทางวิชาการตำรวจ รวมทั้งใช้ปฏิภาณไหวพริบและสติปัญญา เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม  ซึ่งต้องประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
                    (๑) ไม่ทำการทารุณหรือทารุณกรรมต่อบุคคล หรือต่อบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลนั้น
                    (๒) ไม่ใช้ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือปล่อยปละละเลยให้มีการทารุณหรือทารุณกรรมต่อบุคคล หรือต่อบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลนั้น
                    (๓) ไม่กระทำการข่มขู่หรือรังควาน หรือไม่ใช้อำนาจที่มิชอบ หรือแนะนำเสี้ยมสอนบุคคลให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือปรักปรำผู้อื่น
                    (๔) ไม่กักขังหรือหน่วงเหนี่ยวบุคคลที่ยังไม่ได้ถูกจับกุมตามกฎหมาย เพื่อการสอบปากคำ
                    (๕) ไม่ใช้อำนาจที่มิชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน
              ๕.  ต้องควบคุมดูแลบุคคลที่อยู่ในการควบคุมของตนอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายและมีมนุษยธรรม  ซึ่งต้องประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
                    (๑) ไม่ผ่อนปรนให้บุคคลนั้นมีสิทธิหรือได้ประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผน
                    (๒) ไม่รบกวนการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลกับทนายความตามสิทธิแห่งกฎหมาย
                    (๓) จัดให้บุคคลได้รับการรักษาพยาบาลหรือการดูแลทางการแพทย์ตามสมควรแก่กรณี เมื่อบุคคลนั้นมีอาการเจ็บป่วยหรือร้องขอ
                    (๔) ไม่ควบคุมเด็กและเยาวชนร่วมกับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ใหญ่ หรือไม่คุมขังผู้หญิงร่วมกับผู้ชาย เว้นแต่เป็นกรณีที่มีกฎหมายและระเบียบแบบแผนอนุญาต
              ๖.  ข้อมูลข่าวสารที่ข้าราชการตำรวจได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ ๔ หรือจากการปฏิบัติหน้าที่อื่น ข้าราชการตำรวจจะต้องรักษาข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นความลับอย่างเคร่งครัด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์หรือชื่อเสียงของบุคคล หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษทั้งต่อผู้เสียหายหรือผู้กระทำความผิด
                    ข้าราชการตำรวจจะเปิดเผยข้อมูลนั้นได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือเพื่อประโยชน์ในราชการตำรวจที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเพื่อการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จริยธรรมของตำรวจ

                                             มาตรฐานทางจริยธรรมของตำรวจ

             ตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2551 (แก้ไขตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553)
             มาตรฐานทางจริยธรรมของตำรวจ คือ คุณความดี ที่เป็นข้อประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ เพื่อให้ประชาชนศรัทธา เชื่อมั่นและยอมรับ
             ข้าราชการตำรวจต้องประพฤติปฏิบัติดังนี้
             ๑.  ต้องเคารพ ศรัทธา และยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งต้องประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
                  (๑) จงรักภักดีและเทิดทูนพระมหากษัตริย์พระราชินีและพระรัชทายาท และไม่ยอมให้ผู้ใดล่วงละเมิด
                  (๒) สนับสนุนการเมืองประชาธิปไตยด้วยศรัทธา มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่เป็นผู้บริหารหรือกรรมการพรรคการเมือง และไม่กระทําการใด ๆ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่พรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น
             ๒.  ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายอื่น โดยเคร่งครัด โดยไม่เลือกปฏิบัติ
             ๓.  ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการ ประชาชน ชุมชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งต้องพึงปฏิบัติดังนี้
                   (๑) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว กระตือรือร้น รอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรม
                   (๒) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร เสียสละ ใช้ปฏิภาณไหวพริบ กล้าหาญและอดทน
                   (๓) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความเต็มใจ ไม่ละทิ้งหน้าที่ ไม่หลีกเลี่ยงหรือปัดความรับผิดชอบ
                   (๔) ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัดคุ้มค่าโดยระมัดระวังมิให้เสียหายหรือสิ้นเปลืองเยี่ยงวิญญูชนจะพึงปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนเอง
                   (๕) รักษาความลับของทางราชการ และความลับที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือจากประชาชนผู้มาติดต่อราชการ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรม หรือการตรวจสอบตามที่กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ กําหนด
            ๔.  ต้องมีจิตสำนึก ของความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เพื่อให้ประชาชนศรัทธาและเชื่อมั่น  ซึ่งต้องประพฤติปฏิบัติดังนี้
                  (๑) มีท่าทีเป็นมิตร มีมนุษยสัมพันธ์อันดี และมีความสุภาพอ่อนโยนต่อประชาชนผู้รับบริการ รวมทั้งให้บริการประชาชนด้วยความเต็มใจ รวดเร็ว และไม่เลือกปฏิบัติ
                  (๒) ปฏิบัติตนให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชน ไม่เบียดเบียน ไม่แสดงกริยาหรือท่าทางไม่สุภาพหรือไม่ให้เกียรติ รวมทั้งไม่ใช้ถ้อยคำ กริยา หรือท่าทาง ที่มีลักษณะหยาบคาย ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามประชาชน
                  (๓) เอื้อเฟื้อ สงเคราะห์ และช่วยเหลือประชาชนเมื่ออยู่ในฐานะที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ หรือประสบเคราะห์จากอุบัติเหตุ การละเมิดกฎหมาย หรือภัยอื่นๆ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำผิดกฎหมายหรือไม่
                  (๔) ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการอย่างเคร่งครัด การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนที่ร้องขอ ต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ไม่ถ่วงเวลาให้เนิ่นช้า และไม่ให้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จแก่ประชาชน

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จรรยาบรรณของพนักงานสอบสวน

   ลักษณะ 8    การสอบสวน 
    บทที่ 17 
  จรรยาบรรณของพนักงานสอบสวน 
............................................. 
               ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของการสอบสวนคดีอาญา อันเป็นภารกิจหลักในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยมีพนักงานสอบสวนเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้ ซึ่งการดำเนินการจะต้องมีความโปร่งใส สุจริต รวดเร็ว เสมอภาคและเที่ยงธรรมอย่างแท้จริง โดยยึดหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญควบคู่ไปกับการรักษาความสงบสุขของสังคม และพัฒนาพนักงานสอบสวนให้มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณที่เหมาะสมต่อการดำรงไว้ซึ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรต้นธารของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่พนักงานสอบสวนจะปฏิบัติหน้าที่ให้สัมฤทธิผล จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีจรรยาบรรณของพนักงานสอบสวนเป็นกรอบและแนวทางในการประพฤติปฏิบัติควบคู่ไปกับ “อุดมคติของตำรวจ” ที่ได้กำหนดไว้แล้วในประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 16 ตามผนวกแนบท้าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนและสังคมส่วนรวม ดังต่อไปนี้ 
               ข้อ 1  ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยจรรยาบรรณของพนักงานสอบสวน พ.ศ.2544 ” 
               ข้อ 2  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งขัดแย้งกับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน 
               ข้อ 3  จรรยาบรรณของพนักงานสอบสวน ที่ต้องประพฤติปฏิบัติควบคู่ไปกับอุดมคติของตำรวจตามผนวกแนบท้าย ระเบียบนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนและสังคมส่วนรวม มีดังนี้ 
               (1) พนักงานสอบสวนต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 
               (2) พนักงานสอบสวนต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต และยึดมั่น ในศีลธรรม 
               (3) พนักงานสอบสวนต้องอำนวยความยุติธรรม ด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องโปร่งใส และเป็นธรรม โดยปราศจากอคติ 
               (4) พนักงานสอบสวนต้องกล้ายืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง 
               (5) พนักงานสอบสวนพึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เสียสละ และอดทน เพื่อประโยชน์แห่งการอำนวยความยุติธรรม 
               (6) พนักงานสอบสวนพึงมีมนุษย์สัมพันธ์ดี ด้วยความสุภาพอ่อนโยน มีไมตรีจิต และเต็มใจ 
ให้บริการประชาชน 
               (7) พนักงานสอบสวนพึงหมั่นศึกษาหาความรู้ และพัฒนาตนเองตลอดเวลา 
               (8) พนักงานสอบสวนพึงสำนึก และยึดมั่นในวิชาชีพการสอบสวน มีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีและวิชาชีพของตนเอง 
               ให้ผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนทุกระดับชั้น ทำความเข้าใจและสอดส่องควบคุม ดูแล ให้พนักงานสอบสวนยึดถือประพฤติปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณของพนักงานสอบสวนอย่างแท้จริง เพื่อให้บังเกิดผลดีแก่ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของตน และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่สังคม หากมีการละเลยหรือทำให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนผู้ใดฝ่าฝืน ก็ให้ผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาไปตามระเบียบแบบแผนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหากเข้าข่ายผิดวินัยก็ให้ดำเนินการในเรื่องวินัยด้วย