วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

การดำเนินการทางวินัย มาตรา 84 - 90

การดำเนินการทางวินัย 
(หมวด ๖ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๘๔ - ๙๐)

             มาตรา ๘๔  เมื่อมีการกล่าวหา หรือมีกรณีเป็นที่สงสัย ว่าข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัย
             ให้ผู้บังคับบัญชารีบดำเนินการ(๑)สืบสวนข้อเท็จจริง หรือ(๒)พิจารณาในเบื้องต้น ว่าผู้นั้น กระทำผิดวินัยหรือไม่
             ในการสืบสวนข้อเท็จจริงให้แจ้งเรื่องที่ถูกกล่าวหา หรือถูกร้องเรียน ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงภายในกำหนดเวลา
              -  ถ้าเห็นว่ากรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยให้สั่งยุติเรื่องได้
              -  ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๘๕ หรือมาตรา ๘๖ แล้วแต่กรณีทันที

             มาตรา ๘๕  เมื่อข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
             ให้ผู้บังคับบัญชานำสำนวนการสืบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา ๘๔ มาพิจารณาสั่งการตามมาตรา ๘๙

             มาตรา ๘๙  ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
             -  ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน ตามสมควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด
             -  ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้
                แต่สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้เฉพาะกรณีทำผิดวินัยเล็กน้อยหรือมีเหตุอันควรลดหย่อนซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษทัณฑกรรม
             -  ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าผู้กระทำผิดวินัยควรได้รับโทษสูงกว่าที่ตนมีอำนาจสั่งลงโทษ
                 ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาของตนที่มีอำนาจ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการเพื่อลงโทษตามควรแก่กรณี
             -  ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้โดย ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือ หรือว่ากล่าวตักเตือน ก็ได้
             การลงโทษตามมาตรานี้ ผู้บังคับบัญชาจะมีอำนาจสั่งลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาในสถานโทษได้เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.

              มาตรา ๘๖  เมื่อข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
               -  ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน
               -  ในการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหา และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มี ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยจะระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้
                   ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา
                -  เมื่อดำเนินการแล้ว ถ้าฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๘๙ หรือมาตรา ๙๐ แล้วแต่กรณี
                -  ถ้าฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย ให้สั่งยุติเรื่อง
               ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๗๒ หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามวรรคหนึ่ง
               ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจตำแหน่งต่างกันถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอย่างร้ายแรงร่วมกัน
                -  ให้ผู้มีอำนาจสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่มีตำแหน่งในระดับสูงกว่า เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
               ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๑๐๑ และผลการสอบสวนปรากฎว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
               -  ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการสั่งการตามผลการสอบสวนโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือดำเนินการสอบสวนใหม่
                -  แต่ทั้งนี้ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยจะระบุหรือไม่ระบุพยานก็ได้ และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ด้วย

                มาตรา ๙๐  ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
                -  ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๗๒ สั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก                 -  การพิจารณาสั่งลงโทษของผู้มีอำนาจตามมาตรา ๗๒ (๒) (๓) และ (๔) ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเสนอ
                   โดยคณะกรรมการดังกล่าวอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรองหัวหน้าหน่วยงานนั้นทุกคน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎ ก.ตร.
                -  ผู้ถูกลงโทษปลดออกตามมาตรานี้ ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเสมือนว่าผู้นั้นลาออกจากราชการ
                มาตรา ๘๗  หลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาเกี่ยวกับ การสืบสวน และการสอบสวน ที่ต้องดำเนินการตามมาตรา ๘๔ และมาตรา ๘๖ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.
                -  ในการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๕ มาตรา ๘๖ มาตรา ๘๙ หรือมาตรา ๙๐ ให้พิจารณาสั่งการให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันได้รับสำนวน
                    เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. ซึ่งทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินหกสิบวัน
                 -  ในการนี้ หากยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้ข้าราชการตำรวจผู้ถูกกล่าวหา กลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อน และให้ถือว่า ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกสืบสวนหรือสอบสวน แล้วแต่กรณี นับแต่วันครบกำหนดเวลาดังกล่าวจนกว่าการพิจารณาสั่งการในเรื่องนั้นจะเสร็จสิ้นและมีคำสั่ง
                 -  ในกรณีที่เป็นความผิดที่ปรากฎชัดแจ้งตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. จะดำเนินการทางวินัย โดยไม่ต้องสืบสวนหรือสอบสวนก็ได้
                 มาตรา ๘๘  เมื่อมีเหตุจำเป็นจะต้องกักตัวข้าราชการตำรวจซึ่งถูกกล่าวหาไว้เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน เช่น จะหลบหนี หรือจะไปทำร้าย หรือข่มขู่ผู้เสียหายหรือพยาน
                  -  ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจกักตัวข้าราชการตำรวจนั้นระหว่างดำเนินการสอบสวนได้เท่าที่จำเป็นแก่การสอบสวน แต่ต้องไม่เกินอำนาจลงโทษกักขังของผู้สั่งกักตัวและต้องไม่เกินสิบห้าวัน
                  -  ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจตามวรรคหนึ่ง ถูกลงโทษกักยามหรือกักขังให้หักจำนวนวันที่ถูกกักตัวออกจากระยะเวลากักยามหรือกักขังด้วย และในกรณีที่ถูกลงโทษทัณฑกรรม ให้ถือว่าการถูกกักตัวเป็นการรับโทษสำหรับความผิดนั้นแล้ว