วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2557

สิทธิผู้ถูกกล่าวหาทางวินัยตำรวจ

สิทธิและหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา (โดยย่อ)
ตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๔๗
               -  ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิคัดค้านผู้สั่งแต่งตั้งฯและกรรมการสอบสวน ถ้าผู้นั้นมีความไม่เหมาะสมตาม ข้อ ๓ โดยให้ทำเป็นหนังสือคัดค้าน และให้ยื่นต่อผู้บังคับบัญชาเหนือผู้สั่งแต่งตั้งฯขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง โดยให้ยื่นต่อผู้สั่งแต่งตั้งฯ ภายใน ๗ วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯหรือทราบเหตุแห่งการคัดค้าน ให้ผู้ได้รับหนังสือคัดคนส่งสำเนาหนังสือคัดค้านและแจ้งวันที่ได้รับหนังสือให้ประธานกรรมการทราบและรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย    (ข้อ ๓๗)
                    ผู้รับหนังสือคัดค้านให้พิจารณาการคัดค้านโดยไม่ชักช้าแต่ไม่เกิน ๓๐ วัน ถ้าเกินกำหนดให้ถือว่าผู้ที่ถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งสำนวนการสอบสวน
                    หากเห็นว่าการคัดค้านมีเหตุผลรับฟังได้ ให้สั่งผู้นั้นพ้นจากผู้มีอำนาจพิจารณาฯ แล้วสั่งให้ผู้ที่มีอำนาจในการแต่งตั้งเป็นผู้พิจารณาแทน หรือเป็นผู้พิจารณาเองก็ได้
                    ถ้าเห็นว่าการคัดค้านไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังได้ ให้สั่งยกคำคัดค้านนั้น คำสั่งยกให้เป็นที่สุด
                    การพิจารณาให้แสดงเหตุผลในการพิจารณาสั่งการไว้ด้วย พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบและส่งเรื่องรวมเข้าไว้ในสำนวนการสอบสวน
                    การพิจารณาสั่งการตามผลการสอบสวนที่ดำเนินการเสร็จ หรือพ้นจากการเป็นกรรมการสอบสวน ให้ประธานกรรมการรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไป
              -  ผู้ถูกกล่าวหาจะนำพยานหลักฐานมานำสืบแก้ข้อกล่าวหาเอง หรือจะอ้างพยานหลักฐานแล้วขอให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานหลักฐานนั้นมาก็ได้     (ข้อ ๓๘)
              -  ผู้ถูกกล่าวหาอาจยื่นคำชี้แจง หรือขอให้ถ้อยคำ หรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการฯ ก่อนการสอบสวนแล้วเสร็จ
              -  หากการสอบสวนแล้วเสร็จแต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้สั่งแต่งตั้งฯหรือผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจ ผู้ถูกกล่าวหาอาจจะยื่นคำชี้แจงต่อบุคคลดังกล่าวก็ได้ และให้รับคำชี้แจงนั้นรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
              -  ผู้ถูกกล่าวหาจะนำทนายความหรือที่ปรึกษาไม่เกิน ๑ คน เข้าร่วมฟังการสอบสวนก็ได้ แต่จะให้ถ้อยคำแทนไม่ได้