วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557

มาตรฐานคุณธรรมและอุดมคติตำรวจ

              คุณธรรม คือ สภาพคุณงามความดี หรือกฎธรรมชาติฝ่ายดี ที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องควบคุมจิตใจให้สงบ และมีความสุขในการดำรงชีวติร่วมกันในสังคม
              มาตรฐานคุณธรรมและอุดมคติของตำรวจ ตามประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ.๒๕๕๓ ท้าย กฎ ก.ตร.ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๓
             -  เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้ข้าราชการตำรวจอยู่ในกรอบของศีลธรรมและคุณธรรม
             -  ขณะเดียวกันก็เป็นแนวทางชี้นำให้ข้าราชการตำรวจบรรลุถึงปณิธานของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
             ข้าราชการตำรวจพึงยึดถือ คุณธรรม ๔ ประการ ตามพระบรมราโชวาท เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งในการประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้
             (๑)  การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตนเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
             (๒)  การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ ความดีเท่านั้น
             (๓)  การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าด้วยเหตุประการใด
             (๔)  การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
             ฆราวาสธรรม แปลว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ
             สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน เป็นคนจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน
             ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ บังคับตัวเองเพื่อลดและละกิเลส และรักษาสัจจะ
             ขันติ แปลว่า อดทน ไม่ใช่แพียงแต่อดทนกับคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นที่เราไม่พอใจ แต่หมายถึงการอดทนอดกลั้นต่อการบีบบังคับของกิเลส
             จาคะ แปลว่า เสียสละ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน โดยเฉพาะกิเลสเพราะนั้นคือสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่กับตน ละนิสัยไม่ดีต่าง ๆ
              ข้าราชการตำรวจพึงยึดถือ อุดมคติของตำรวจ ๙ ประการ เป็นแนวทางชี้นำการประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่ เพื่อบรรลุถึงปณิธานของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ดังนี้
              (๑)  เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่
              (๒)  กรุณาปราณีต่อประชาชน
              (๓)  อดทนต่อความเจ็บใจ
              (๔)  ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก
              (๕)  ไม่มักมากในลาภผล
              (๖)   มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
              (๗)  ดำรงตนในยุติธรรม
              (๘)  กระทำการด้วยปัญญา
              (๙)  รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต
              ข้าราชการตำรวจพึงหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาตนเองให้ทันโลกทันเหตุการณ์ และมีความชำนาญการในงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมทั้งต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบธรรมเนียมการปฏิบัติของส่วนราชการในกระบวนการยุติธรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบของตน เพื่อสามารถประสานงานได้อย่างกลมกลืนแนบเนียน และเป็นประโยชน์ต่อราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ