วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การพกพาอาวุธของตำรวจ

 นอกเหนือจากกฎหมายแล้ว ยังมีระเบียบที่ควบคุมการการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจอยู่ ๒ อย่าง คือ
             ๑. ระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี (เกี่ยวกับการ ตรวจค้น ,จับกุม ฯลฯ)
             ๒. ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี (เครื่องแต่งกาย,ระเบียบวินัย,การพกพาอาวุธ ฯลฯ)
             การพกพาอาวุธปืนของข้าราชการตำรวจนั้นมีระบุไว้ในประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี เล่ม ๒ ตอน ๑ ประเภทบริหาร ลักษณะที่ ๒๒ การแต่งเครื่องแบบ

บทที่ ๑๓
การพกพาอาวุธปืน ดาบปลายปืน และตะบอง

             ข้อ ๑. ห้ามมิให้ข้าราชการตำรวจซึ่งแต่งเครื่องแบบก็ดี หรือมิได้แต่งเครื่องแบบก็ดี หรือที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการต่างๆ โดยทั่วไป พกหรือพาอาวุธปืนไปในถนนหลวง ทางหลวง หรือในที่สาธารณสถาน เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
                       ๑. หน่วยตำรวจรักษาการณ์ที่เตรียมตัวอยู่กับที่เป็นหมวดหมู่เพื่อป้องกันและปราบปรามเหตุการณ์โจรผู้ร้าย
                       ๒. ตำรวจสายตรวจ ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร
                       ๓. หน่วยตำรวจซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปตรวจ หรือรักษาเหตุการณ์แรมคืน
                       ๔. ตำรวจที่ประจำตู้ยามหรือด่านตรวจ
                       ๕. ตำรวจที่ทำหน้าที่อารักขาบุคคลหรือเป็นยามสถานที่สำคัญ ซึ่งทางราชการสั่งให้มีอาวุธปืนติดตัวได้
                       ๖. ตำรวจซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเงิน
                       ๗. ตำรวจผู้ควบคุมผู้ต้องหา หรือจำเลย หรือผู้ต้องหา เดินทางไปส่ง ณ ที่ใด ๆ ซึ่งเป็นทางไกลหรือทางเปลี่ยวอันจำเป็นต้องมีอาวุธควบคุมอย่างเข้มแข็ง และหัวหน้าหน่วยงานที่จัดตำรวจควบคุมไปนั้นสั่งให้ตำรวจผู้ควบคุมมีอาวุธปืนไปในการนั้น
                       ๘. เมื่อมีกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องปราบปรามเหตุการณ์ด้วยการใช้อาวุธ ให้ตำรวจพกอาวุธปืนเคลื่อนที่ไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ต้องมีหัวหน้าเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรคุมไป ถ้าไม่มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่จะจัดให้ควบคุมไปได้ จึงให้จัดนายตำรวจชั้นประทวนถัด ๆ ลงมาไปเป็นผู้ควบคุม
                       ๙. ตำรวจที่ทำการฝึก ซึ่งต้องใช้อาวุธปืนตามระเบียบที่ว่าด้วยการฝึก
                      ๑๐. ตำรวจที่จัดเป็นกองหมวดหรือหมู่เกียรติยศตามระเบียบที่ว่าด้วยการจัดแถวเกียรติยศ
                      ๑๑. ตำรวจซึ่งทำหน้าที่นำอาวุธปืนของหลวงหรือของกลางส่งยังที่ต่าง ๆ ในกรณีนี้ต้องบรรจุอาวุธปืนนั้นในหีบหรือห่ออย่างเรียบร้อย
                      ๑๒. กรณีพิเศษอื่น ๆ ที่ผู้บังคับบัญชาตำรวจตั้งแต่ชั้นผู้กำกับการขึ้นไป สั่งให้พกอาวุธปืนไปได้
                      ข้อยกเว้นเหล่านี้ เมื่อเสร็จกิจที่จำต้องพกหรือพาอาวุธปืนไปในการนั้นแล้ว ตำรวจที่มีอาวุธปืนเหล่านั้น ต้องรีบกลับหน่วยที่ตั้งโดยเร็ว ห้ามพกหรือพาอาวุธปืนแวะเวียนไปในที่อื่นใดอีก
            ข้อ ๒. ในเขตพระราชฐาน เขตทหาร ในศาล ห้ามมิให้พกอาวุธปืนเข้าไป
            ข้อ ๓. ตำรวจที่รักษาการณ์โดยทั่วไป นอกจากกรณีที่ยกเว้นไว้ตอนต้นนั้น ให้ใช้อาวุธดังนี้
                       ๑. ตำรวจนครบาลให้ใช้ตะบองตามแบบของกรมตำรวจ
                       ๒. ตำรวจภูธร ให้ใช้ดาบปลายปืนของหลวง
            ข้อ ๔. ตำรวจที่เดินทางจากต่างจังหวัดหรือต่างท้องที่ โดยพกอาวุธปืนสำหรับตัวไปด้วย ให้รีบนำอาวุธปืนและกระสุนทั้งของหลวงและของส่วนตัวไปฝากไว้ที่สถานีตำรวจเจ้าของท้องที่นั้น ๆ เว้นแต่การเดินทางผ่านโดยไม่พักค้างคืน
                       การฝากอาวุธตามวรรคต้นนั้น ไม่บังคับแก่ตำรวจชั้นจ่าสิบตำรวจขึ้นไป
                       การฝากและรับอาวุธปืนคืน ให้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการนั้น
            ข้อ ๕. ตำรวจตั้งแต่ชั้นจ่าสิบตำรวจขึ้นไป ซึ่งแต่งเครื่องแบบและปฏิบัติราชการอื่นนอกจากกรณียกเว้นข้างต้น จะพกอาวุธปืนติดตัวไปด้วยก็ได้ แต่ต้องพกพาไปโดยมิดชิดจนผู้อื่นไม่อาจรู้ได้ง่ายว่ามีอาวุธปืนติดตัวอยู่ เช่น บรรจุไว้ในกระเป๋าเอกสาร เป็นต้น
            ข้อ ๖. ข้าราชการตำรวจที่มีความจำเป็นต้องพกอาวุธปืนติดตัวไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ว่าอาวุธปืนนั้นจะเป็นอาวุธปืนส่วนตัวหรือของทางราชการ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาชั้นสารวัตร สารวัตรใหญ่ หรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปก่อน การอนุญาตดังกล่าวต้องทำเป็นหนังสือตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้ โดยมอบให้กับผู้รับอนุญาตนำพกติดตัวไป การอนุญาตให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาผู้อนุญาตว่าควรจะให้พกภายในกำหนดกี่วัน แต่ทั้งนี้ การอนุญาตครั้งหนึ่งจะต้องไม่เกิน ๖ เดือน
                      สำหรับตำรวจผู้มีอำนาจอนุญาตดังกล่าวมาแล้ว และตำรวจชั้นร้อยตำรวจเอกขึ้นไป ถ้าจะต้องปฏิบัติราชการและมีความจำเป็นต้องพกอาวุธปืนติดตัวไปด้วย ถือว่าอยู่ในภาวะรู้ควรมิควรเป็นอย่างดีแล้ว ไม่ต้องขออนุญาตผู้ใด เว้นแต่ให้นำบัตรประจำตัวติดตัวไปด้วย เพื่อแสดงเมื่อจำเป็นเท่านั้น
            ข้อ ๗. ในกรณีที่พกอาวุธปืนได้ตามระเบียบที่กล่าวแล้ว ให้ข้าราชการตำรวจถือปฏิบัติในการพกปืนดังกล่าวดังต่อไปนี้
                       (๑) ในกรณีแต่งเครื่องแบบตำรวจ
                              ก. ขณะอยู่ในแถว ควบคุมแถว ไปราชการ ให้พกโดยใช้ซองปืนหนังสีน้ำตาลร้อยเข็มขัดไว้ทางขวา
                              ข. ในโอกาสลำลอง ให้พกพาไปในลักษณะซ่อนเร้นอย่างมิดชิดจนไม่สามารถอาจสังเกตเห็นได้ง่าย
                              ค. ในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่จราจร ตำรวจที่มียศตั้งแต่สิบตำรวจเอกลงให้พกโดยใช้ซองปืนหนังสีขาวร้อยเข็มขัดไว้ทางขวา ตามที่กองพลาธิการจัดหามาจ่ายให้ใช้ราชการ
                       (๒) ในกรณีที่มิได้แต่งเครื่องแบบ ให้พกพาไปโดยมิดชิด จนไม่อาจสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น บรรจุไว้ในกระเป๋าเอกสาร เป็นต้น
                       ข้อควรระวังในการพกอาวุธปืนนั้นมีหลักอยู่ว่า ต้องให้มิดชิดและเรียบร้อย ทั้งต้องให้เป็นการเหมาะสมกับกาลเทศะด้วย อย่าพกปืนในทำนองที่ทำให้ประชาชนได้รับความกระทบกระเทือนใจเมื่อได้พบเห็น เช่น ไม่สวมเครื่องแบบ แต่เหน็บปืนไว้ทีสะเอวบ้าง ข้างหลังบ้าง หรือใส่กระเป๋ากางเกงปล่อยด้ามปืนโผล่ออกมาให้เห็นบ้าง เป็นต้น
                        นอกจากที่กล่าวข้างต้น ข้าราชการตำรวจที่พกพาอาวุธปืน จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนโดยเคร่งครัด หากฝ่าฝืนย่อมเป็นความผิดทางวินัย และอาจถูกดำเนินคดีได้
            ข้อ ๘.  การใช้ดาบปลายปืนหรือตะบอง เมื่อแต่งเครื่องแบบตำรวจนั้น ให้ใส่ในซองดาบปลายปืน หรือซองตะบองที่ทางราชการจ่ายให้ โดยสอดซองนั้นไว้ในเข็มขัดบริเวณสะเอวข้างซ้าย
            ข้อ ๙.  ตำรวจที่ได้รับจ่ายดาบปลายปืน ให้คาดดาบปลายปืนประกอบเครื่องแบบได้เฉพาะในโอกาสที่ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้นสารวัตร สารวัตรใหญ่ หรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปสั่งให้คาดเพื่อปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการปราบปรามโจรผู้ร้าย หรือในโอกาสอื่นที่ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้นสารวัตร สารวัตรใหญ่ หรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปสั่งให้คาดได้เท่านั้น นอกจากนี้ห้ามคาดดาบปลายปืน ยิ่งเป็นโอกาสที่มิได้แต่งเครื่องแบบแล้ว ห้ามคาดเด็ดขาด