วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การแต่งเครื่องแบบและบุคลิกภาพตำรวจที่ดี

ประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี 
ลักษณะที่ ๒๒ 
การแต่งเครื่องแบบ
บทที่ ๑ ลักษณะทั่วไป
               เครื่องแบบตำรวจที่ทางราชการกำหนดขึ้น เป็นเครื่องแสดงถึงสัญลักษณ์ของผู้แต่ง ว่าเป็นข้าราชการผู้ทรงเกียรติเหล่าหนึ่ง ซึ่งต่างจากข้าราชการอื่น ๆ และยังมีความหมายให้รู้ว่าผู้แต่งมีหน้าที่ รักษากฎหมาย และคอยพิทักษ์รับใช้ประชาชน
               พระราชหัตถเลขาในราชกาลที่ ๕ ผู้ทรงพระราชทานกำเนิดเครื่องแบบตำรวจว่า "สีกากี" ภาษาเปอร์เซียน แปลว่า "สีแผ่นดิน" จึงน่าจะมีพระราชประสงค์ว่า ตำรวจต้องเป็นตำรวจของแผ่นดิน เป็นผู้รักษาแผ่นดิน หรือต้องบำบัดทุกข์ให้ความร่มเย็นเป็นสุข รักษาความปลอดภัย และให้ความอุ่นใจประชาชนทุกชาติ ชั้น วรรณะ เหมือนแผ่นดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยให้ความสุขแก่สัตว์ทุกจำพวก
               ฉะนั้น ผู้แต่งเครื่องแบบต้องรักศักดิ์ศรี มีจิตใจสูง เข้มแข็ง หนักแน่น อดทน เสียสละ สุภาพ อ่อนโยน มีวินัยดี มีศีลธรรมและวัฒนธรรม ประกอบด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีความสามัคคีกัน
               การแต่งกายเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดหมดจด ยังชักจูงใจให้ประชนเกิดความศรัทธาเลื่อมใส เป็นการเข้าถึงจิตใจประชาชนในเบื้องต้น เครื่องแบบทุกชิ้นส่วนจึงควรให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมได้ส่วนสัดรัดกุม ที่เป็นผ้าต้องซักรีดให้เรียบร้อย ที่เป็นโลหะ หรือหนัง ต้องขัดถูให้สะอาดเป็นเงางามและ ต้องแต่งให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงทุกประการ
               ข้อ ๑.  การแต่งเครื่องแบบตำรวจนั้น ต้องให้เป็นเครื่องเตือนสติแก่ข้าราชการตำรวจที่จะรักษาวินัยตำรวจ ความประพฤติ และมารยาท สมเกียรติของตำรวจ การที่ตำรวจแต่งกายเรียบร้อย หมดจด ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ย่อมดูผึ่งผายองอาจเป็นสง่า แสดงให้เห็นว่า ตำรวจในกรมกองนั้น มีระเบียบวินัยดี เป็นที่น่าเกรงขามแก่หมู่พาลชน ไม่กล้าที่จะก่อเหตุร้ายขึ้น หากบกพร่องในการแต่งเครื่องแบบก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ตำรวจในหน่วยนั้น ๆ มีสมรรถภาพ ระเบียบวินัย ตลอดจนการปฏิบัติงานอ่อนแอ ไม่เป็นที่เลื่อมใสของประชาชน
               ข้อ ๒.  เครื่องแบบ และส่วนประกอบของเครื่องแบบ ต้องสะอาดเรียบร้อย และแต่งให้ครบชุด สีของเครื่องแบบต้องไม่ผิดเพี้ยน หรือเข้มผิดปกติ เครื่องแบบประเภทไหนมีส่วนประกอบอย่างใด ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบตำรวจ การแต่งเครื่องแบบไม่ครบชุด เช่น สวมแต่เสื้อไม่สวมหมวก หรือสวมหมวก ไม่คาดเข็มขัด หรือคาดหย่อนยานไม่มีขอบรับ ไม่ติดเลขประจำตัว หรือสถานี หรือชื่อหน่วยงานที่สังกัด ไม่กลัดคอเสื้อ หรือแต่งเกินไปกว่าที่กำหนดให้แต่ง เช่น ประดับสายนกหวีด ในเวลาที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามประจำหรือควบคุมแถว ถือได้ว่า แต่งเครื่องแบบไม่เรียบร้อย
               ข้อ ๓.  เครื่องแบบและส่วนประกอบทุกชิ้น ตลอดจนสีของผ้าตัดเครื่องแบบต้องเป็นไปตามลักษณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด หรือจัดทำขึ้นเป็นตัวอย่าง ห้ามมิให้ดัดแปลงให้ผิดแปลกไปจากแบบที่กำหนดหรือตัวอย่าง
               ข้อ ๔.  สีของเสื้อ กางเกง และหมวก จะต้องไม่แตกต่างกันจนเห็นได้ชัด ห้ามใช้สีเข้ม สีซีดจางไปจากสีผ้าเครื่องแบบที่กรมตำรวจกำหนดไว้ชัดเจนน่าเกลียด รูปทรงของเสื้อ กางเกงและหมวก ต้องเป็นไปโดยสุภาพเหมาะสมกับขนาดทรวดทรงร่างกายของตน ต้องไม่คับหรือหลวมเกินไป หมวกต้องเป็นทรงตึงไม่บู้บี้
               ข้อ ๕.  การแต่งเครื่องแบบ เมื่อมีหมายกำหนดการ คำสั่ง หรือบัตรเชิญไปในงานใดให้แต่งเครื่องแบบตามที่กำหนดไว้ในหมายกำหนดการ คำสั่ง หรือบัตรเชิญนั้น ๆ แต่ถ้ากรณีนั้น ๆ มิได้กำหนดให้แต่งเครื่องแบบอย่างใด ให้แต่งอย่างสุภาพตามสมัยนิยม และเหมาะสมกับงาน
               ข้อ ๖.  ผู้แต่งเครื่องแบบจะต้องสวมหมวกเสมอ หมวกที่สวมนั้น ต้องเป็นหมวกตามแบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่ทรงบู้บี้ เว้นแต่ ได้เข้าไปในสถานที่ราชการหรือเคหะสถานที่ใดแล้วให้ถอดหมวกตามประเพณีได้
               ข้อ ๗.  ห้ามนำหนังสือ หรือวัตถุอื่นใด ใส่กระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกงจนดูไม่เรียบร้อย
               ข้อ ๘.  ในเวลาแต่งเครื่องแบบ ห้ามมิให้ใช้ผ้าอื่นใดพันคอเพื่อซับเหงื่อ เว้นแต่ เวลาสวมเครื่องแบบเสื้อนอกคอปิด ถ้าจะใช้ผ้าซับเหงื่อก็ให้ใช้ผ้าสีขาว
               ข้อ ๙.  ห้ามมิให้ข้าราชการตำรวจแต่งกายไม่สุภาพเข้าไปในสถานที่ราชการ เช่น สวมรองเท้าแตะ หรือนุ่งกางเกงแพร หรือโสร่ง เป็นต้น เว้นแต่ สถานที่นั้นเป็นที่พักอาศัยของข้าราชการและเป็น เวลานอกราชการ
               ข้อ ๑๐.  การแต่งกายสากล ต้องแต่งให้เรียบร้อยตามประเพณีนิยม
               ข้อ ๑๑.  เมื่อแต่งเครื่องแบบปกติเสื้อเชิ้ตคอพับกากี ขณะอยู่ตามลำพัง ผ่อนผันให้เปิดกระดุมคอเม็ดต้นได้ ๑ เม็ด แต่ถ้าเป็นเวลาที่ทำหน้าที่รักษาการณ์อยู่ในแถว ควบคุมแถวรายงานตน เวลาเข้าหาผู้บังคับบัญชา หรือเข้าหาผู้ใหญ่ที่สมควรแสดงคารวะ ต้องขัดกระดุมทุกเม็ด การแต่งเครื่องแบบชนิดนี้ ต้องมิให้คอเสื้อหรือแขนเสื้อชั้นในแลบออกนอกเสื้อจนแลเห็นได้
               ข้อ ๑๒.  ตำรวจที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการซ่อมเครื่องยนต์ ปฏิบัติงานในโรงงาน หรืออู่ซ่อม หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการซ่อมสร้างงานด้านสวัสดิการประชาชนในขณะปฏิบัติหน้าที่จะแต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตคอพับแขนยาว ประกอบด้วย กางเกงขายาวสีน้ำเงินก็ได้ ถ้าอยู่ในโรงงานจะใช้กางเกงขาสั้นประกอบด้วยเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีน้ำเงินก็ได้ เว้นแต่ หมวกให้ใช้หมวกแก๊ปทรงอ่อนสีน้ำเงิน
               ในเวลาแต่งเครื่องแบบตำรวจ ห้ามมิให้ใช้สิ่งอื่นใดติดหรือทับเครื่องแบบ นอกจากที่ทางราชการได้อนุญาต ตำรวจผู้ได้รับเสื้อครุยหรือเสื้อปริญญาให้สวมทับเครื่องแบบตำรวจได้ในโอกาสตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการใช้เสื้อนั้น ๆ
               การไว้ทรงผมและการแต่งเครื่องแบบตำรวจหญิง
               ๑. การแต่งเครื่องแบบ
                   ๑.๑  ลักษณะและขนาดของเสื้อ กระโปรง รองเท้า และกระเป๋าถือ ให้ถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงและระเบียบที่ ตร. กำหนด สำหรับผ้าที่ใช้ตัดเครื่องแบบควรเป็นผ้าที่มีเนื้อผ้าไม่บางจน เกินไป และไม่ควรตัดรัดรูป
                   ๑.๒  ผู้ที่มีครรภ์ตั้งแต่ ๓ เดือนขึ้นไป ให้งดการแต่งเครื่องแบบ และใช้ชุดคลุมท้องสีขาวหรือสีกากีแกมเขียว
               ๒. การไว้ทรงผม
                    ๒.๑  การไว้ทรงผมควรจะขมวดปลายผมให้เรียบร้อย ไม่ปล่อยให้ผมยาวประบ่า หรือปรกบ่าจนปิดอินทรธนู
                    ๒.๒  หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ตกแต่งทรงผมประกอบ ก็ควรใช้กิ้บ หรือริบบิ้นขนาดเล็ก ที่เป็นสีเดียวกับสีผม
                    ๒.๓  ห้ามไว้ผมเปีย ผมแกละ ผมทรงหางมา ผมม้า (ผมปรกหน้า) หรือทรงผมอื่นที่ไม่เหมาะสม
                    ๒.๔  ห้ามใช้ครีมแต่งผมหรือสารอื่นใดตกแต่งทรงผม ให้มองดูแล้วเหมือนผมเปียก ตามสมัยนิยมในปัจจุบัน

บุคลิกภาพของตำรวจที่ดี
               ๑. มีความยิ้มแย้มแจ่มใสในขณะทำงาน ไม่มีอารมณ์เสียหรือหงุดหงิด
               ๒. มีความเคารพนอบน้อม ไม่หยิ่งหรือเมินเฉย
               ๓. มีการทักทายต่อผู้อื่น อ่อนน้อม ถ่อมตน
               ๔. การแต่งกายเครื่องแบบถูกต้อง ตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด และแต่งกายถูกกาลเทศะ
               ๕. พูดจาสุภาพ ไพเราะ น่าฟัง ชัดเจน เข้าใจง่าย
               ๖. ลักษณะท่าทางดี แข็งแรง วางตัวเหมาะสม มีความสง่าผ่าเผย สมกับเป็นตำรวจ
               ๗. ตรงต่อเวลา มีความขยันหมั่นเพียร เสียสละ รักงานบริการ
               ๘. ซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ประหยัด รู้จักอดออม
               ๙. มีความอดทน อดกลั่น มีระเบียบวินัย
               ๑๐. รักในเกียรติ และรักศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจ
               ๑๑. รักความก้าวหน้า ขยันหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา
               ๑๒. มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
               ๑๓. มีความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพตำรวจ มีจิตวิญญาณของความเป็นตำรวจ
               ๑๔. มีความคิดสร้างสรรค์ คิดเป็นระบบ
               ๑๕. มีความสามารถ มีทักษะ นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ
               ๑๖. มีคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นธรรม
               ๑๗. มีภาวะความเป็นผู้นำ
               ๑๘. มีความรู้และทักษะในด้านการบริหารและการจัดการ

การพัฒนาบุคลิกภาพสร้างความสำเร็จในชีวิตข้าราชการตำรวจ
               การพัฒนาบุคลิกภาพเป็นหนทางสำคัญที่จะนำตัวข้าราชการตำรวจผู้นั้นไปสู่ความสำเร็จในชีวิตเพราะการที่คนเราจะสร้างความสำเร็จในชีวิตได้นั้น จำเป็นต้องพัฒนาความสามารถสำคัญ ๓ ประการ คือ
               ๑. ความสามารถในการครองตน คือ จะต้องดูแลตนเองให้กินดีอยู่ดี มีสุขภาพกาย สุขภาพ จิตใจที่ดี รู้จักความพอดี มีความพอใจในชีวิต และสามารถลิขิตชีวิตตนเองให้มีความสุขได้
               ๒. ความสามารถในการครองคน คือ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี เป็นที่รักใคร่ของญาติมิตร รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้ความสำคัญกับผู้อื่นจนชนะใจผู้อื่นได้
               ๓. ความสามารถในการครองงาน คือ สามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จในงานอาชีพ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความก้าวหน้าในงานที่รับผิดชอบ
               ความสำเร็จในชีวิตจะทำให้มนุษย์มีความสุขและสะท้อนออกมาเป็นบุคลิกภาพประจำตัวที่ดีได้ด้วย ดังนั้น การพัฒนาบุคลิกภาพกับการสร้างความสำเร็จในชีวิตจึงเป็นสิ่งที่มีความสันพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
บุคลิกภาพที่สัมพันธ์ระหว่างบุคคลของข้าราชการตำรวจ
               อาชีพตำรวจ ไม่สามารถทำงานได้อย่างโดดเดี่ยว แต่จะต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ หมวด กอง กรม ชุมชน สังคม เป็นต้น การที่อยู่ร่วมกันก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันตลอดเวลา ดังนั้น บุคลิกภาพหรือการแสดงออกที่มีให้เห็นต่อกัน จัดเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม บุคลิกภาพของแต่ละนายแต่ละคนแสดงออกให้เห็น ดังนี้
               ๑. การร่วมมืองานในหน้าที่บางอย่าง ต้องกระทำเป็นกลุ่มจึงจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เช่น การวางแผนจับผู้ร้ายสำคัญ ต้องร่วมมืออาศัยกันหลายฝ่ายหลายแผนกงาน
               ๒. การแข่งขัน เพื่อให้ได้ผลงานสำเร็จตามความมอบหมาย เพื่อการพิจารณาขั้นเงินเดือน มีการแข่งขันในการทำงานให้เสร็จทันตามเวลาที่กำหนด
               ๓. ความก้าวร้าว เป็นการกระทำของผู้ที่เกิดความเจ็บปวดทางกาย ทางจิตใจ โดยการแสดงความก้าวร้าวออกมาให้เห็นในหมู่เพื่อนร่วมงาน ในที่ทำงาน บุคคลที่แสดงความก้าวร้าวออกมาต่อผู้อื่นนั้น อาจเกิดจากสาเหตุที่สำคัญ ๔ ประการ คือ ความคับข้องใจ การลงโทษ การเสริมแรง และการเลียนแบบ
               ๔. การขัดแย้ง เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นตลอดเวลา ประกอบกับความแตกต่างในระหว่างชั้นยศ ตำแหน่ง ในที่ทำงาน จึงอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ งานในหน้าที่บางอย่างก่อให้เกิดการชิงดีชิงเด่นกัน ในที่สุดก็จะเกิดความขัดแย้งระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายซึ่งกันและกันหรืออาจนำไปสู่การพัฒนาและสร้างสรรค์งานนั้น ๆ ได้
               ๕. การเอื้อเฟื้อ อาชีพตำรวจคำนึงถึงการเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นเป็นหลัก การช่วยเหลือพิทักษ์รับใช้ผู้อื่น ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเอื้อเฟื้อของข้าราชการตำรวจ เช่น การมีตัวแบบ การเสริมแรง และการได้รับการฝึกความรับผิดชอบ เป็นต้น
               ๖. บุคลิกผู้นำ-ผู้ตาม สายการปกครองบังคับบัญชาในระบบตำรวจเป็นไปตามชั้นยศ ตำแหน่ง ทั้งนี้ เพื่อการมีวินัยที่เคร่งครัด และสะดวกในการมอบหมายงาน เพื่อให้งานสำเร็จเกิดประโยชน์สูงสุด ผู้นำต้องมีบุคลิกภาพที่ดี วางตัวเหมาะสม เป็นที่เคารพเลื่อมใสของผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ตามย่อมเชื่อฟังคำสั่งตามที่ได้รับมอบหมาย