ประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี
ลักษณะที่ ๒๒
การแต่งเครื่องแบบ
บทที่ ๑ ลักษณะทั่วไป
เครื่องแบบตำรวจที่ทางราชการกำหนดขึ้น เป็นเครื่องแสดงถึงสัญลักษณ์ของผู้แต่ง ว่าเป็นข้าราชการผู้ทรงเกียรติเหล่าหนึ่ง ซึ่งต่างจากข้าราชการอื่น ๆ และยังมีความหมายให้รู้ว่าผู้แต่งมีหน้าที่ รักษากฎหมาย และคอยพิทักษ์รับใช้ประชาชน
พระราชหัตถเลขาในราชกาลที่ ๕ ผู้ทรงพระราชทานกำเนิดเครื่องแบบตำรวจว่า "สีกากี" ภาษาเปอร์เซียน แปลว่า "สีแผ่นดิน" จึงน่าจะมีพระราชประสงค์ว่า ตำรวจต้องเป็นตำรวจของแผ่นดิน เป็นผู้รักษาแผ่นดิน หรือต้องบำบัดทุกข์ให้ความร่มเย็นเป็นสุข รักษาความปลอดภัย และให้ความอุ่นใจประชาชนทุกชาติ ชั้น วรรณะ เหมือนแผ่นดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยให้ความสุขแก่สัตว์ทุกจำพวกฉะนั้น ผู้แต่งเครื่องแบบต้องรักศักดิ์ศรี มีจิตใจสูง เข้มแข็ง หนักแน่น อดทน เสียสละ สุภาพ อ่อนโยน มีวินัยดี มีศีลธรรมและวัฒนธรรม ประกอบด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีความสามัคคีกัน
การแต่งกายเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดหมดจด ยังชักจูงใจให้ประชนเกิดความศรัทธาเลื่อมใส เป็นการเข้าถึงจิตใจประชาชนในเบื้องต้น เครื่องแบบทุกชิ้นส่วนจึงควรให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมได้ส่วนสัดรัดกุม ที่เป็นผ้าต้องซักรีดให้เรียบร้อย ที่เป็นโลหะ หรือหนัง ต้องขัดถูให้สะอาดเป็นเงางามและ ต้องแต่งให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงทุกประการ
ข้อ ๑. การแต่งเครื่องแบบตำรวจนั้น ต้องให้เป็นเครื่องเตือนสติแก่ข้าราชการตำรวจที่จะรักษาวินัยตำรวจ ความประพฤติ และมารยาท สมเกียรติของตำรวจ การที่ตำรวจแต่งกายเรียบร้อย หมดจด ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ย่อมดูผึ่งผายองอาจเป็นสง่า แสดงให้เห็นว่า ตำรวจในกรมกองนั้น มีระเบียบวินัยดี เป็นที่น่าเกรงขามแก่หมู่พาลชน ไม่กล้าที่จะก่อเหตุร้ายขึ้น หากบกพร่องในการแต่งเครื่องแบบก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ตำรวจในหน่วยนั้น ๆ มีสมรรถภาพ ระเบียบวินัย ตลอดจนการปฏิบัติงานอ่อนแอ ไม่เป็นที่เลื่อมใสของประชาชน
ข้อ ๒. เครื่องแบบ และส่วนประกอบของเครื่องแบบ ต้องสะอาดเรียบร้อย และแต่งให้ครบชุด สีของเครื่องแบบต้องไม่ผิดเพี้ยน หรือเข้มผิดปกติ เครื่องแบบประเภทไหนมีส่วนประกอบอย่างใด ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบตำรวจ การแต่งเครื่องแบบไม่ครบชุด เช่น สวมแต่เสื้อไม่สวมหมวก หรือสวมหมวก ไม่คาดเข็มขัด หรือคาดหย่อนยานไม่มีขอบรับ ไม่ติดเลขประจำตัว หรือสถานี หรือชื่อหน่วยงานที่สังกัด ไม่กลัดคอเสื้อ หรือแต่งเกินไปกว่าที่กำหนดให้แต่ง เช่น ประดับสายนกหวีด ในเวลาที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามประจำหรือควบคุมแถว ถือได้ว่า แต่งเครื่องแบบไม่เรียบร้อย
ข้อ ๓. เครื่องแบบและส่วนประกอบทุกชิ้น ตลอดจนสีของผ้าตัดเครื่องแบบต้องเป็นไปตามลักษณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด หรือจัดทำขึ้นเป็นตัวอย่าง ห้ามมิให้ดัดแปลงให้ผิดแปลกไปจากแบบที่กำหนดหรือตัวอย่าง
ข้อ ๔. สีของเสื้อ กางเกง และหมวก จะต้องไม่แตกต่างกันจนเห็นได้ชัด ห้ามใช้สีเข้ม สีซีดจางไปจากสีผ้าเครื่องแบบที่กรมตำรวจกำหนดไว้ชัดเจนน่าเกลียด รูปทรงของเสื้อ กางเกงและหมวก ต้องเป็นไปโดยสุภาพเหมาะสมกับขนาดทรวดทรงร่างกายของตน ต้องไม่คับหรือหลวมเกินไป หมวกต้องเป็นทรงตึงไม่บู้บี้
ข้อ ๕. การแต่งเครื่องแบบ เมื่อมีหมายกำหนดการ คำสั่ง หรือบัตรเชิญไปในงานใดให้แต่งเครื่องแบบตามที่กำหนดไว้ในหมายกำหนดการ คำสั่ง หรือบัตรเชิญนั้น ๆ แต่ถ้ากรณีนั้น ๆ มิได้กำหนดให้แต่งเครื่องแบบอย่างใด ให้แต่งอย่างสุภาพตามสมัยนิยม และเหมาะสมกับงาน
ข้อ ๖. ผู้แต่งเครื่องแบบจะต้องสวมหมวกเสมอ หมวกที่สวมนั้น ต้องเป็นหมวกตามแบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่ทรงบู้บี้ เว้นแต่ ได้เข้าไปในสถานที่ราชการหรือเคหะสถานที่ใดแล้วให้ถอดหมวกตามประเพณีได้
ข้อ ๗. ห้ามนำหนังสือ หรือวัตถุอื่นใด ใส่กระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกงจนดูไม่เรียบร้อย
ข้อ ๘. ในเวลาแต่งเครื่องแบบ ห้ามมิให้ใช้ผ้าอื่นใดพันคอเพื่อซับเหงื่อ เว้นแต่ เวลาสวมเครื่องแบบเสื้อนอกคอปิด ถ้าจะใช้ผ้าซับเหงื่อก็ให้ใช้ผ้าสีขาว
ข้อ ๙. ห้ามมิให้ข้าราชการตำรวจแต่งกายไม่สุภาพเข้าไปในสถานที่ราชการ เช่น สวมรองเท้าแตะ หรือนุ่งกางเกงแพร หรือโสร่ง เป็นต้น เว้นแต่ สถานที่นั้นเป็นที่พักอาศัยของข้าราชการและเป็น เวลานอกราชการ
ข้อ ๑๐. การแต่งกายสากล ต้องแต่งให้เรียบร้อยตามประเพณีนิยม