พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗
ลักษณะ ๖ ระเบียบข้าราชการตำรวจ
หมวด ๘ การอุทธรณ์
มาตรา ๑๐๕ ข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกสั่งลงโทษ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ได้ดังต่อไปนี้(๑) กรณีถูกสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงโทษ แต่ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์ต่อ ก.ตร.
(๒) กรณีถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.ตร.
การอุทธรณ์ตาม (๑) และ (๒) ให้อุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
ระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ตาม (๑) และ (๒) ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่ มีเหตุจำเป็นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. ที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินหกสิบวัน
หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.
กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ.๒๕๔๗
ข้อ ๒ การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยและคำสั่งให้ออกจากราชการ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน กฏ ก.ตร. นี้ในกรณีที่เป็นการลงโทษทางวินัยหรือสั่งให้ออกจากราชการตามกฎหมายอื่นซึ่งกำหนดเรื่องการอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะก็ให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น หากกฎหมายนั้นไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะก็ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาอุทธรณ์ตาม กฎ ก.ตร. ฉบับนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๓ ข้าราชการตำรวจผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ ทายาทผู้มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดของผู้นั้นมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งแทนได้ภายใต้กำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
ระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จและแจ้งผู้อุทธรณ์ทราบภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ ก.ตร. ที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินหกสิบวัน
ข้อ ๕ การใช้สิทธิอุทธรณ์กรณีถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการให้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.ตร.
ในการใช้สิทธิตามวรรคหนึ่ง ผู้อุทธรณ์จะขอแถลงการณ์ด้วยวาจาเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.ตร. ก็ได้ โดยแสดงความประสงค์ไว้ในหนังสืออุทธรณ์ หรือจะทำเป็นหนังสือต่างหาก แต่ต้องยื่นหนังสือนั้นต่อ ก.ตร. โดยตรงภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ยื่นหนังสืออุทธรณ์ หาก ก.ตร. พิจารณาเห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์จะไม่อนุญาตให้ผู้อุทธรณ์เข้าแถลงการณ์ด้วยวาจาก็ได้