วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จรรยาบรรณตำรวจ ในการสืบสวนสอบสวน

จรรยาบรรณของตำรวจ (ข้อ ๑๙, ๒๑)

  ตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2551 

(แก้ไขตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553)

              ในการรวบรวมพยานหลักฐาน การสืบสวนสอบสวน การสอบปากคำ หรือการซักถามผู้กระทำความผิด ผู้ต้องหา ผู้ที่อยู่ในความควบคุมตามกฎหมาย ผู้เสียหาย ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ หรือบุคคลอื่น
              ข้าราชการตำรวจต้องแสดงความเป็นมืออาชีพ โดยใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาการตำรวจ รวมทั้งใช้ปฏิภาณไหวพริบและสติปัญญา เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง และธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ซึ่งต้องประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
               (๑)  ไม่ทำการทารุณ หรือทารุณกรรมต่อบุคคล หรือต่อบุคคลอื่น ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลนั้น
               (๒)  ไม่ใช้ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือปล่อยปละละเลย ให้มีการทารุณหรือทารุณกรรมต่อบุคคล หรือต่อบุคคลอื่น ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลนั้น
               (๓)  ไม่กระทำการข่มขู่ หรือรังควาน หรือไม่ใช้อำนาจที่มิชอบ หรือแนะนำเสี้ยมสอนบุคคล ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือปรักปรำผู้อื่น
               (๔)  ไม่กักขัง หรือหน่วงเหนี่ยว บุคคลที่ยังไม่ได้ถูกจับกุมตามกฎหมาย เพื่อการสอบปากคำ
               (๕) ไม่ใช้อำนาจที่มิชอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน

          ข้อมูลข่าวสารที่ข้าราชการตำรวจได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ข้างต้น หรือจากการปฏิบัติหน้าที่อื่น ข้าราชการตำรวจจะต้องรักษาข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นความลับ อย่างเคร่งครัด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์หรือชื่อเสียงของบุคคล หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษทั้งต่อผู้เสียหายหรือผู้กระทำความผิด
          ข้าราชการตำรวจจะเปิดเผยข้อมูลนั้นได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเพื่อประโยชน์ในราชการตำรวจที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเพื่อการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น