วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ทำสำนวนการสอบสวนล่าช้า

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.899/2556 คดีหมายเลขดำที่ อ.805/2550 
เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

                ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง) มีคำสั่งลงวันที่ 3 มิถุนายน 2542 ตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานบกพร่องต่อหน้าที่ราชการ กรณีทำสำนวนการสอบสวนคดีอาญาและคดีจราจรบกพร่อง ล่าช้า เป็นเหตุให้สำนวนคดีอาญาเสียหายรวม 7 สำนวนคดี คือ (1) คดีข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ อายุความ 10 ปี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2540 จับกุมผู้ต้องหาได้ในวันเดียวกัน ผู้ต้องหามีประกันตัวเกิน 6 เดือน นายประกันถอนหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2541 สรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลได้ (2) คดีข้อหาจำหน่ายยาบ้า 5 เม็ด อายุความ 20 ปี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2540 จับกุมผู้ต้องหาได้ในวันเดียวกัน ศาลปล่อยตัวเนื่องจากครบผัดฟ้องฝากขังครั้งสุดท้าย (3) คดีข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 อายุความ 10 ปี จับกุมผู้ต้องหาได้ในวันเดียวกัน ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาเนื่องจากครบผัดฟ้องฝากขังครั้งสุดท้ายแล้ว (4) คดีข้อหาลักทรัพย์ในเคหสถาน อายุความ 10 ปี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2541 จับกุมผู้ต้องหาได้ในวันเดียวกัน ศาลสั่งปล่อยตัวเนื่องจากครบผัดฟ้องฝากขังครั้งสุดท้ายแล้ว สรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่ไม่สามารถนำผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลได้ (5) คดีข้อหาอนาจารผู้เยาว์ในที่สาธารณะอายุความ 15 ปี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2541 จับกุมผู้ต้องหาได้ในวันเดียวกันศาลสั่งปล่อยตัวเนื่องจากครบผัดฟ้องฝากขังครั้งสุดท้ายแล้ว สรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2542 พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่ไม่สามารถนำผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลได้ (6) คดีข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 (กัญชา) ไว้ในครอบครอง อายุความ 10 ปี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 จับกุมผู้ต้องหาได้ในวันเดียวกัน ศาลสั่งปล่อยตัวเนื่องจากครบผัดฟ้องฝากขังครั้งสุดท้าย สรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2542 พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่ไม่สามารถนำผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลได้ (7) คดีข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 (กัญชา) ไว้ในครอบครอง อายุความ 10 ปี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 จับกุมผู้ต้องหาได้ในวันเดียวกัน ศาลสั่งปล่อยตัวเนื่องจากครบผัดฟ้องฝากขังครั้งสุดท้ายแล้ว สรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2542 พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่ไม่สามารถนำผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลได้
                ต่อมา คณะกรรมการสอบสวนวินัยมีความเห็นเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยฐานไม่ประพฤติตนให้เคร่งครัดต่อมารยาทและระเบียบแบบแผนของตำรวจ เกียจคร้านละทิ้งหรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ หรือประพฤติไม่สมควรอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยวินัยตำรวจ พุทธศักราช 2477 มาตรา 5 (3) (5) (7) และเสนอให้ลงทัณฑ์ผู้ฟ้องคดีโดยการกักยาม 5 วัน แต่คณะกรรมการพิจารณาทัณฑ์ทางวินัย กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พิจารณาให้เพิ่มโทษจากกักยาม 5 วัน เป็นกักยาม 30 วัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีคำสั่งลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2544 ลงโทษให้กักยามผู้ฟ้องคดี 30 วัน ตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาทัณฑ์ทางวินัย
                หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้เสนอผลการลงโทษไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มอบอำนาจให้อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย คณะที่ 2 เป็นผู้พิจารณาแทน โดยอนุกรรมการได้พิจารณาเรื่องการลงโทษทางวินัยของผู้ฟ้องคดีในการประชุมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2545 และในการประชุมเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 มีมติให้เพิ่มโทษจากกักยาม 30 วัน เป็นไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีคำสั่งลงวันที่ 1 เมษายน 2546 สั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์ไปยัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้พิจารณาเรื่องอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วมีมติให้ยกอุทธรณ์

                ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการลงโทษที่ไม่เหมาะสมแก่เหตุที่เกิดขึ้นและเป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงวันที่ 1 เมษายน 2546 ที่สั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เพิกถอนมติอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการอุทธรณ์ (อ.ก.ตร.อุทธรณ์) ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2548 เฉพาะมติที่เกี่ยวข้องกับการไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตำรวจในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าเดิมและคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีได้รับตามกฎหมายให้แก่ผู้ฟ้องคดี
               เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีมีประเด็นโต้แย้งเพียงประการเดียวว่าการทำสำนวนการสอบสวนล่าช้าตามที่ถูกกล่าวหาไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับทางราชการ และการพิจารณาลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นโทษที่หนักเกินสมควร ซึ่งแม้ผู้ฟ้องคดีจะได้กล่าวอ้างว่าได้ปฏิบัติหน้าที่เต็มกำลังความสามารถแล้ว แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน แต่โดยที่คดีอาญาทั้ง 7 สำนวนข้างต้น แม้ทางปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะถือว่าเป็นคดีอาญาธรรมดา และประมวลกฎหมายอาญาจะกำหนดให้มีอายุความอยู่ระหว่าง 10 ปี ถึง 15 ปี แต่ก็หาแปลความได้ว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์จะให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่สอบสวนเพื่อให้ได้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาใช้เวลาปฏิบัติหน้าที่ได้นานเพียงใดก็ได้ ซึ่งเห็นได้จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 วรรคหนึ่ง และมาตรา 134 วรรคห้า ประกอบกับคำสั่งกรมตำรวจ ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2537 เรื่อง กำหนดมาตรการควบคุม ตรวจสอบ และเร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งบทบัญญัติและคำสั่งดังกล่าวมีความประสงค์ให้พนักงานสอบสวนต้องทำการสืบสวนสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
                สำหรับกรณีที่ทำการสอบสวนล่าช้าเป็นเหตุให้สำนวนคดีอาญาเสียหาย 7 สำนวนนั้น หากผู้ฟ้องคดีเอาใจใส่ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและคำสั่งข้างต้น โดยรีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบตามความเป็นจริงในทันทีที่ปรากฏเหตุว่าการสอบสวนจะเกินกำหนดระยะเวลาไม่ว่าความล่าช้าดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด ความเสียหายใดๆ ที่จะเกิดแก่สำนวนคดีอาญาทั้ง 7 สำนวน ก็ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ และเมื่อพิจารณาพฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีข้างต้น นอกจากจะเป็นการไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยในฐานะเป็นข้าราชการตำรวจผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายโดยเคร่งครัดแล้ว ยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้อำนาจไว้ และเป็นการไม่เอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับคำสั่งของกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดมาตรการควบคุม ตรวจสอบ และเร่งรัดการสอบสวนคดีอาญาแล้ว การกระทำดังกล่าวยังก่อให้เกิดผลให้สำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ฟ้องคดีเกิดความเสียหาย เช่น ล่าช้าจนหมดอำนาจผัดฟ้อง ฝากขัง ศาลต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไปเป็นจำนวนมากหลายคดี ทำให้ผู้ต้องหาคดีอาญาได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็นเหตุให้กระทบถึงความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์กรตำรวจโดยรวม เป็นการไม่รักษาชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ในตำแหน่งหน้าที่ของตน
               การกระทำของผู้ฟ้องคดีเช่นนี้เป็นการกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ซึ่งความผิดวินัยฐานดังกล่าว มาตรา 104 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี แต่กรณีอันเป็นความผิดฐานนี้ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีต้องหาว่ากระทำผิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้กำหนดระดับการลงทัณฑ์ข้าราชการตำรวจ สำหรับความผิดกรณีปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง โดยเป็นพนักงานสอบสวน เกียจคร้าน ทำสำนวนล่าช้าค้างเป็นจำนวนมาก และเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงไว้เป็นมาตรฐานให้ไล่ออกจากราชการ ตามมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ครั้งที่ 6/2530 และครั้งที่ 16/2530 ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งลงวันที่ 1 เมษายน 2546 เพิ่มโทษจากกักยาม 30 วัน เป็นไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงชอบด้วยเหตุผลและผลตามกฎหมาย และการที่อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการอุทธรณ์ ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2548 มีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางลงวันที่ 1 เมษายน 2546 เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการอุทธรณ์ ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2548 เฉพาะส่วนที่มีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งและเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดิม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นต้นไปนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้อง

(คำพิพากษาฉบับเต็ม)