วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2557

การพิจารณาสำนวนการสอบสวนทางวินัยตำรวจ

การพิจารณาสำนวนการสอบสวน (โดยย่อ)
ตาม กฏ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนและพิจารณา พ.ศ.๒๕๔๗
---------------------------การทำรายงานการสอบสวน----------------------------
-  ให้คณะกรรมการฯประชุมพิจารณาลงมติ(ครั้งสุดท้าย)เมื่อสอบสวนเสร็จ ดังนี้        (ข้อ ๓๑)
        (๑)  ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือไม่ กรณีใด มาตราใด ควรรับโทษสถานใด
        (๒)  กรณีกระทำผิดวินัย อันมิใช่ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ บกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือไม่ อย่างไร
        (๓)  กรณีไม่ได้ความแน่ชัดว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดอย่างร้ายแรงที่จะถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออกแต่มีมลทินมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนนั้น หากจะให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการและควรให้ออกจากราชการตามมาตรา ๑๐๒ หรือไม่ อย่างไร
-  ให้ทำรายงานการสอบสวนตาม แบบ สว.๖ กรรมการฯผู้ใดมีความเห็นแย้งให้ทำความเห็นแย้งแนบไว้กับรายงานการสอบสวน       (ข้อ ๓๒)
-  รายงานการสอบสวนอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังนี้
        (๑)  สรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่ามีอย่างใดบ้าง กรณีที่ไม่ได้สอบสวนพยานหลักฐานเนื่องจากพยานไม่มาหรือจะทำให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น ให้รายงานเหตุให้ปรากฎไว้
        (๒)  วินิจฉัยเปรียบเทียบพยานหลักฐานที่สนับสนุน กับที่หักล้างข้อกล่าวหา
        (๓)  ความเห็นว่า ได้กระทำผิดวินัยหรือไม่ ถ้าไม่ผิดให้เสนอยุติเรื่อง ถ้าผิดให้ระบุการกระทำผิด ดั่งหัวข้อการประชุมพิจารณาลงมติข้างต้น
-  เมื่อทำรายงานการสอบสวนแล้ว ให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งสารบาญต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไปและให้ถือว่าการสอบสวนเสร็จ
--------------------------การพิจารณาสั่งสำนวนการสอบสวน-----------------------------
-  ผู้สั่งแต่งตั้งฯ ตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนการสอบสวนว่า การสอบสวนมิชอบหรือบกพร่องหรือไม่     (ข้อ ๓๓)
-  ผู้สั่งแต่งตั้งฯ หรือผู้มีอำนาจ กำหนดประเด็นให้สอบสวนเพิ่มเติมได้ ถ้าคณะกรรมการฯไม่อาจทำได้ ก็ให้ตั้งคณะกรรมการฯชุดใหม่ขึ้นทำการสอบสวนเพิ่มเติมก็ได้ เมื่อเสร็จแล้วให้สั่งไปให้ผู้สั่งฯโดยทำความเห็นที่ได้จากการสอบสวนเพิ่มเติมประกอบไปด้วย      (ข้อ ๓๔)
-  กรณีเป็นการสอบสวนตามมาตรา ๑๐๑ (หย่อนความสามารถ) และปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ผู้มีอำนาจ สั่งการตามผลการสอบสวนโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือดำเนินการสอบสวนใหม่ แต่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย         (ข้อ ๓๕)
-  การพิจารณาสั่งสำนวนการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน ๒๔๐ วัน นับแต่วันได้รับสำนวน เว้นมีเหตุจำเป็น ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน ๒ ครั้ง ๆ ละไม่เกิน ๖๐ วัน หากไม่แล้วเสร็จ ให้ผู้ถูกกล่าวหากลับคืนสู่ฐานะเดิมและให้ถือว่าไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างสอบสวนนับแต่วันครบกำหนดเวลาดังกล่าวจนกว่าการพิจารณาสั่งการในเรื่องนั้นจะเสร็จสิ้นและมีคำสั่ง        (ข้อ ๓๖)
-  กรณีผู้มีอำนาจฯจะสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก ให้ผู้มีอำนาจฯ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อน
-  การพิจารณาพยานหลักฐาน ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาตามที่ได้แจ้งให้ผู้ถูกล่าวหาทราบและให้โอกาสที่จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้วเท่านั้น หากมีพยานหลักฐานนอกเหนือที่สามารถรับฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ จะต้องดำเนินการให้มีการแจ้งสรุปพยานหลักฐานในส่วนที่เพิ่มเติมและให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วย
-----------------------การสอบสวนที่มิชอบและบกพร่อง---------------------------
-  การสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯไม่ถูกต้อง เช่น น้อยกว่า ๓ คน มีข้าราชการตำรวจน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ประธานกรรรมการดำรงตำแหน่งน้อยกว่าผู้ถูกกล่าวหา ให้การสอบสวนทั้งหมดเสียไป กรณีเช่นนี้ ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งใหม่ให้ถูกต้อง            (ข้อ ๓๙)
-  กรณีที่ทำให้การสอบสวนเฉพาะตอนนั้น เสียไป กรณีดังต่อไปนี้ ให้ผู้มีอำนาจฯ สั่งให้คณะกรรมการดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว       (ข้อ ๔๐)
        (๑)  คณะกรรมการมาประชุมน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
        (๒)  การสอบปากคำดำเนินการไม่ถูกต้อง เช่น
                -  มีบุคคลอื่นเข้าร่วมสอบสวน
                -  มีกรรมการฯทำการสอบปากคำน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
                -  มีการจูงใจให้บุคคลให้ถ้อยคำอย่างใดๆ มีบุคคลอื่นยกเว้นทนายความหรือที่ปรึกษาอยู่ในที่สอบสวน
                -  เรียกผู้ซึ่งถูกสอบปากคำเข้ามาในที่สอบสวนเกินคราวละ ๑ คน
                -  การส่งประเด็นสอบสวน ไม่รายงานผู้สั่งตั้งฯ หรือคณะทำการสอบสวนไม่ประกอบไปด้วยหัวหน้าหน่วยงานและข้าราชการตำรวจอย่างน้อยอีก ๒ คน
                -  ผู้ถูกกล่าวหานำทนายความหรือที่ปรึกษาเข้าร่วมฟังการสอบสวนเกิน ๑ คน หรือให้ถ้อยคำแทน
-  กรณีที่ปรากฏว่า คณะกรรมการฯ ไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้ ให้ผู้มีอำนาจฯสั่งคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว และต้องให้โอกาสผูถูกกล่าวหาที่จะชี้แจงให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาตามที่กำหนดไว้ด้วย       (ข้อ ๔๑)
         (๑)  ไม่เรียกผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา
         (๒)  ไม่ส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาไปให้ผู้ถูกกล่าวหา
         (๓)  ไม่มีหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง หรือนัดมาให้ถ้อยคำ หรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหา
-  ในกรณีผู้มีอำนาจสั่งลงโทษไปตามบทมาตราหรือฐานความผิดที่แตกต่างจากที่แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ แต่ไม่ได้หลงข้อต่อสู้ หรือไม่เสียความเป็นธรรม ให้ถือว่าการสอบสวนและพิจารณานั้นใช้ได้
-  ในกรณีที่ปรากฏว่าการสอบสวนตอนใดทำไม่ถูกต้องนอกเหนือที่กล่าวมา แต่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ให้ผู้มีอำนาจฯ สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว      (ข้อ ๔๒)
-  การนับระยะเวลา เวลาเริ่มต้นให้นับวันถัดจากวันแรก แต่ถ้าเป็นกรณีขยายเวลาให้นับต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิม ส่วนเวลาสิ้นสุดถ้าตรงกับวันหยุดราชการให้นับวันเริ่มเปิดทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา
บทความที่เกี่ยวข้อง
การสอบสวนทางวินัยตำรวจ

สิทธิผู้ถูกกล่าวหาทางวินัยตำรวจ

สิทธิและหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา (โดยย่อ)
ตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๔๗
               -  ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิคัดค้านผู้สั่งแต่งตั้งฯและกรรมการสอบสวน ถ้าผู้นั้นมีความไม่เหมาะสมตาม ข้อ ๓ โดยให้ทำเป็นหนังสือคัดค้าน และให้ยื่นต่อผู้บังคับบัญชาเหนือผู้สั่งแต่งตั้งฯขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง โดยให้ยื่นต่อผู้สั่งแต่งตั้งฯ ภายใน ๗ วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯหรือทราบเหตุแห่งการคัดค้าน ให้ผู้ได้รับหนังสือคัดคนส่งสำเนาหนังสือคัดค้านและแจ้งวันที่ได้รับหนังสือให้ประธานกรรมการทราบและรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย    (ข้อ ๓๗)
                    ผู้รับหนังสือคัดค้านให้พิจารณาการคัดค้านโดยไม่ชักช้าแต่ไม่เกิน ๓๐ วัน ถ้าเกินกำหนดให้ถือว่าผู้ที่ถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งสำนวนการสอบสวน
                    หากเห็นว่าการคัดค้านมีเหตุผลรับฟังได้ ให้สั่งผู้นั้นพ้นจากผู้มีอำนาจพิจารณาฯ แล้วสั่งให้ผู้ที่มีอำนาจในการแต่งตั้งเป็นผู้พิจารณาแทน หรือเป็นผู้พิจารณาเองก็ได้
                    ถ้าเห็นว่าการคัดค้านไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังได้ ให้สั่งยกคำคัดค้านนั้น คำสั่งยกให้เป็นที่สุด
                    การพิจารณาให้แสดงเหตุผลในการพิจารณาสั่งการไว้ด้วย พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบและส่งเรื่องรวมเข้าไว้ในสำนวนการสอบสวน
                    การพิจารณาสั่งการตามผลการสอบสวนที่ดำเนินการเสร็จ หรือพ้นจากการเป็นกรรมการสอบสวน ให้ประธานกรรมการรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไป
              -  ผู้ถูกกล่าวหาจะนำพยานหลักฐานมานำสืบแก้ข้อกล่าวหาเอง หรือจะอ้างพยานหลักฐานแล้วขอให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานหลักฐานนั้นมาก็ได้     (ข้อ ๓๘)
              -  ผู้ถูกกล่าวหาอาจยื่นคำชี้แจง หรือขอให้ถ้อยคำ หรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการฯ ก่อนการสอบสวนแล้วเสร็จ
              -  หากการสอบสวนแล้วเสร็จแต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้สั่งแต่งตั้งฯหรือผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจ ผู้ถูกกล่าวหาอาจจะยื่นคำชี้แจงต่อบุคคลดังกล่าวก็ได้ และให้รับคำชี้แจงนั้นรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
              -  ผู้ถูกกล่าวหาจะนำทนายความหรือที่ปรึกษาไม่เกิน ๑ คน เข้าร่วมฟังการสอบสวนก็ได้ แต่จะให้ถ้อยคำแทนไม่ได้

การสอบสวนทางวินัยตำรวจ

ขั้นตอนการสอบสวนข้อเท็จจริง (โดยย่อ)
ตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๔๗
            -  ใช้สำหรับการสอบสวนพิจารณาข้าราชการตำรวจซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตาม ม.๘๖ วรรคหนึ่ง หรือมีกรณีถูกกล่าวหา หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ ฯลฯ ตาม ม.๑๐๑ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗  (ข้อ ๒)
            -  ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและคณะกรรมการสอบสวน ไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม  (ข้อ ๓)
            -  คณะกรรมการสอบสวน มีอย่างน้อย ๓ คน ต้องมีประธานกรรมการ และเลขานุการหนึ่งคน  (ข้อ ๔)
            -  คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้มีสาระสำคัญตาม แบบ สว.๑    (ข้อ ๕)
            -  ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ต้องแจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็ว และส่งสำเนาคำสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนทราบ  (ข้อ ๖)
            -  ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน สามารถเปลี่ยน เพิ่ม ลด กรรมการสอบสวนได้  (ข้อ ๗)
-------------------------หน้าที่คณะกรรมการสอบสวน--------------------------
            -  ต้องสอบสวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้    (ข้อ ๘)
            -  ต้องรวบรวมประวัติและความประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหา   (ข้อ ๙)
            -  จัดทำบันทึกการปฏิบัติไว้ทุกครั้ง   (ข้อ ๑๐)
            -  ห้ามบุคคลอื่นเข้าร่วมทำการสอบสวน   (ข้อ ๑๑)
            -  ประธานกรรมการ ต้องจัดประชุมคณะกรรมการฯเพื่อพิจารณาวางแนวทางการสอบสวน  (ข้อ ๑๒)
            -  ต้องมีกรรมการฯ มาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เว้นแต่การประชุมตามข้อ ๑๘ , ๓๑ ต้องไม่น้อยกว่าสามคนและไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง การลงมติให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงชี้ขาด  (ข้อ ๑๓)
            -  กรรมการฯผู้ใดเห็นว่าตนมีเหตุอันอาจถูกคัดค้านตาม ข้อ ๓๗ วรรคหนึ่ง ให้รายงานต่อผู้สั่งแต่งตั้งฯ  (ข้อ ๑๔)

------------------------------ระยะเวลาการสอบสวน----------------------------
            -  ให้ทำการประชุม(ครั้งแรก)หลังลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งฯ ภายใน ๑๕ วัน   (ข้อ ๑๕ (๑))
            -  ให้เรียกผู้ถูกกล่าวหามาแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาให้ทราบ หลังคณะกรรมการฯรับทราบคำสั่งฯ ภายใน ๑๕ วัน   (ข้อ ๑๕(๑), ๑๗)
            -  ให้รวบรวมพยานหลักฐานให้เสร็จสิ้นภายใน ๖๐ วัน นับแต่การประชุมครั้งแรกและแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาแล้วเสร็จ   (ข้อ ๑๕(๒))
            -  ให้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ ภายใน ๑๕ วัน นับแต่รวบรวมพยานหลักฐานแล้วเสร็จ    (ข้อ ๑๕(๓))
            -  ให้รวบรวมพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างให้เสร็จสิ้นภายใน ๖๐ วัน นับแต่แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้วเสร็จ   (ข้อ ๑๕(๔))
            -  กรณีไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้คณะกรรมการฯรายงานเหตุให้ผู้สั่งแต่งตั้งฯ เพื่อขอขยายระยะเวลาการสอบสวน ผู้สั่งแต่งตั้งฯสั่งขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็นครั้งละไม่เกิน ๖๐ วัน
            -  หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายใน ๒๗๐ วัน ให้ประธานกรรมการรายงานเหตุให้ผู้สั่งแต่งตั้งฯ ทราบ และให้ผู้สั่งแต่งตั้งฯ ติดตามเร่งรัดการสอบสวนต่อไป      (ข้อ ๑๕ ว.ท้าย)
-------------------------------แนวทางการสอบสวน-----------------------------------
            -  การนำเอกสารหรือวัตถุมาเป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนให้บันทึกว่าได้มาอย่างไร จากผู้ใด เมื่อใด     (ข้อ ๑๖)
            -  เมื่อวางแนวทางการสอบสวนแล้วให้เรียกผู้ถูกกล่าวหามาเพื่อแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิให้ทราบตาม แบบ สว.๒ มอบให้ผู้ถูกกล่าวหา ๑ ฉบับ เก็บไว้ในสำนวน ๑ ฉบับ     (ข้อ ๑๗)
            -  ให้ถามว่าได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร
            -  กรณีรับสารภาพ ให้แจ้งให้ทราบว่า เป็นความผิดวินัยกรณีใดหรือหย่อนความสามารถอย่างไร และบันทึกถ้อยคำรับสารภาพรวมทั้งเหตุผล และสาเหตุแห่งการกระทำ เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จให้ประชุมพิจารณาลงมติ
            -  กรณีปฏิเสธหรือรับสารภาพบางส่วน ให้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วประชุมเพื่อพิจารณาต่อไป
            -  กรณีไม่ยอมลงลายมือชื่อ หรือไม่มารับทราบข้อกล่าวหา ให้ทำ แบบ สว.๒ เป็นสามฉบับ โดยส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาสองฉบับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ๒ ฉบับ พร้อมหนังสือสอบถามคำให้การ หากไม่ได้รับ แบบ สว.๒ คืน ล่วงพ้น ๑๕ วัน ให้ถือว่าได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว
------------------เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเสร็จ---------------------
            -  ให้ดำเนินการประชุม(ครั้งที่ ๒)เพื่อพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานใดสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร      (ข้อ ๑๘)
            -  ถ้าเห็นว่า ยังฟังไม่ได้ว่ากระทำการตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประชุมพิจารณาลงมติมีความเห็นยุติเรื่อง
            -  ถ้าเห็นว่า เป็นความผิดวินัยฐานใด มาตราใด หรือหย่อนความสามารถอย่างไร ก็ให้เรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ทราบ โดยให้ทำบันทึกตาม แบบ สว.๓ ทำเป็นสองฉบับ ให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อ
             -  การแจ้งข้อกล่าวหาฯ ให้ระบุวันเวลาสถานที่ และการกระทำที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนข้อกล่าวหา สำหรับพยานบุคคลจะระบุ หรือไม่ระบุ ชื่อพยาน ก็ได้ โดยให้คำนึงถึงหลัการคุ้มครองพยาน เท่าที่มีตามที่ปรากฎในสำนวน
             -  ให้ถามผู้ถูกกล่าวหาว่าจะยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือหรือไม่ ให้โอกาสยื่นอย่างช้าไม่เกิน ๑๕ วัน หากไม่ยื่น ก็ให้ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาโดยเร็ว เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จให้ประชุมพิจารณาลงมติ
             -  กรณีไม่ยอมลงลายมือชื่อ หรือไม่มารับทราบข้อกล่าวหา ให้ทำ แบบ สว.๓ เป็นสามฉบับ โดยส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาสองฉบับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ๒ ฉบับ พร้อมหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงนัดมาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา หากไม่ได้รับ แบบ สว.๓ คืน ล่วงพ้น ๑๕ วัน ให้ถือว่าไม่ประสงค์ที่จะแก้ข้อกล่าวหา แต่ถ้ามีเหตุผลอันสมควรก็ให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำหรือยื่นคำชี้แจงได้
             -  เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จ ก่อนเสนอสำนวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งฯ ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ให้ดำเนินการได้ ถ้าเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหา ก็ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่จะให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้เฉพาะพยานหลักฐานเพิ่มเติมนั้น     (ข้อ ๑๙)
-----------------------------วิธีการสอบปากคำ----------------------------------
             -  ในการสอบปากคำต้องมีกรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง   (ข้อ ๒๐)
             -  ก่อนเริ่มสอบปากคำพยาน ต้องแจ้งให้ทราบว่ากรรมการสอบสวนมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน   (ข้อ ๒๑)
             -  ห้ามมิให้ล่อลวง ขู่เข็ญ ให้สัญญา หรือกระทำการใดเพื่อจูงใจให้ให้ถ้อยคำ     (ข้อ ๒๒)
             -  ให้เรียกผู้ถูกกล่าวหาและพยานเข้ามาในที่สอบสวนคราวละหนึ่งคน ห้ามมิให้บุคคลอื่นอยู่ในที่สอบสวน เว้นแต่ทนายความหรือที่ปรึกษาของผู้ถูกกล่าวหา และใช้บันทึกถ้อยคำตาม แบบ สว.๔ หรือ แบบ สว.๕ หากมีการขีดฆ่าตกเติมให้ผู้ให้ถ้อยคำร่วมลงลายมือชื่อกำกับด้วย   (ข้อ ๒๓)
             -  พยานมาแต่ไม่ให้ถ้อยคำหรือไม่มา หรือการสอบสวนจะล่าช้าหรือมิใช่พยานหลักฐานในประเด็นสำคัญจะไม่สอบพยานนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกการปฏิบัติงาน และรายงานการสอบสวน      (ข้อ ๒๔, ๒๕)
             -  ส่งประเด็นไปให้หัวหน้าหน่วยงานต่างท้องที่นั้นสอบสวนแทนได้ โดยหัวหน้าหน่วยงานเลือกข้าราชการตำรวจอย่างน้อยอีกสองคนร่วมเป็นคณะทำการสอบสวน   (ข้อ ๒๖)
             -  กรณีมีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งแต่งตั้งฯ หรือมีข้าราชการตำรวจอื่นมีส่วนร่วมกระทำการในเรื่องที่สอบสวนนั้นด้วย ให้ประธานฯรายงานไปยังผู้สั่งฯโดยเร็ว เพื่อสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่หรือคณะเดิมก็ได้ และแยกเป็นสำนวนการสอบสวนใหม่ก็ได้    (ข้อ ๒๗, ๒๘)
             -  ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และข้อเท็จจริงที่ปรากฎได้ความประจักษ์ชัด ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาโดยไม่ต้องสอบพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา แล้วแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ        (ข้อ ๒๙)
             -  ถ้าผู้ถูกกล่าวหาไปอยู่นอกบังคับบัญชาของผู้สั่งฯ ให้สอบสวนต่อไปจนเสร็จ แล้วเสนอผู้สั่งฯ เพื่อส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่หรือมีอำนาจพิจารณาสั่งการสำหรับผู้ถูกกล่าวหาทุกคน ตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนการสอบสวน       (ข้อ ๓๐)

บทความที่เกี่ยวข้อง
- การพิจารณาสำนวนการสอบสวนทางวินัย

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

การดำเนินการทางวินัย มาตรา 84 - 90

การดำเนินการทางวินัย 
(หมวด ๖ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๘๔ - ๙๐)

             มาตรา ๘๔  เมื่อมีการกล่าวหา หรือมีกรณีเป็นที่สงสัย ว่าข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัย
             ให้ผู้บังคับบัญชารีบดำเนินการ(๑)สืบสวนข้อเท็จจริง หรือ(๒)พิจารณาในเบื้องต้น ว่าผู้นั้น กระทำผิดวินัยหรือไม่
             ในการสืบสวนข้อเท็จจริงให้แจ้งเรื่องที่ถูกกล่าวหา หรือถูกร้องเรียน ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงภายในกำหนดเวลา
              -  ถ้าเห็นว่ากรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยให้สั่งยุติเรื่องได้
              -  ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๘๕ หรือมาตรา ๘๖ แล้วแต่กรณีทันที

             มาตรา ๘๕  เมื่อข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
             ให้ผู้บังคับบัญชานำสำนวนการสืบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา ๘๔ มาพิจารณาสั่งการตามมาตรา ๘๙

             มาตรา ๘๙  ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
             -  ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน ตามสมควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด
             -  ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้
                แต่สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้เฉพาะกรณีทำผิดวินัยเล็กน้อยหรือมีเหตุอันควรลดหย่อนซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษทัณฑกรรม
             -  ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าผู้กระทำผิดวินัยควรได้รับโทษสูงกว่าที่ตนมีอำนาจสั่งลงโทษ
                 ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาของตนที่มีอำนาจ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการเพื่อลงโทษตามควรแก่กรณี
             -  ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้โดย ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือ หรือว่ากล่าวตักเตือน ก็ได้
             การลงโทษตามมาตรานี้ ผู้บังคับบัญชาจะมีอำนาจสั่งลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาในสถานโทษได้เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.

              มาตรา ๘๖  เมื่อข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
               -  ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน
               -  ในการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหา และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มี ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยจะระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้
                   ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา
                -  เมื่อดำเนินการแล้ว ถ้าฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๘๙ หรือมาตรา ๙๐ แล้วแต่กรณี
                -  ถ้าฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย ให้สั่งยุติเรื่อง
               ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๗๒ หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามวรรคหนึ่ง
               ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจตำแหน่งต่างกันถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอย่างร้ายแรงร่วมกัน
                -  ให้ผู้มีอำนาจสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่มีตำแหน่งในระดับสูงกว่า เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
               ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๑๐๑ และผลการสอบสวนปรากฎว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
               -  ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการสั่งการตามผลการสอบสวนโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือดำเนินการสอบสวนใหม่
                -  แต่ทั้งนี้ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยจะระบุหรือไม่ระบุพยานก็ได้ และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ด้วย

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557

มาตรฐานคุณธรรมและอุดมคติตำรวจ

              คุณธรรม คือ สภาพคุณงามความดี หรือกฎธรรมชาติฝ่ายดี ที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องควบคุมจิตใจให้สงบ และมีความสุขในการดำรงชีวติร่วมกันในสังคม
              มาตรฐานคุณธรรมและอุดมคติของตำรวจ ตามประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ.๒๕๕๓ ท้าย กฎ ก.ตร.ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๓
             -  เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้ข้าราชการตำรวจอยู่ในกรอบของศีลธรรมและคุณธรรม
             -  ขณะเดียวกันก็เป็นแนวทางชี้นำให้ข้าราชการตำรวจบรรลุถึงปณิธานของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
             ข้าราชการตำรวจพึงยึดถือ คุณธรรม ๔ ประการ ตามพระบรมราโชวาท เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งในการประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้
             (๑)  การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตนเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
             (๒)  การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ ความดีเท่านั้น
             (๓)  การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าด้วยเหตุประการใด
             (๔)  การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
             ฆราวาสธรรม แปลว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ
             สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน เป็นคนจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน
             ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ บังคับตัวเองเพื่อลดและละกิเลส และรักษาสัจจะ
             ขันติ แปลว่า อดทน ไม่ใช่แพียงแต่อดทนกับคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นที่เราไม่พอใจ แต่หมายถึงการอดทนอดกลั้นต่อการบีบบังคับของกิเลส
             จาคะ แปลว่า เสียสละ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน โดยเฉพาะกิเลสเพราะนั้นคือสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่กับตน ละนิสัยไม่ดีต่าง ๆ
              ข้าราชการตำรวจพึงยึดถือ อุดมคติของตำรวจ ๙ ประการ เป็นแนวทางชี้นำการประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่ เพื่อบรรลุถึงปณิธานของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ดังนี้
              (๑)  เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่
              (๒)  กรุณาปราณีต่อประชาชน
              (๓)  อดทนต่อความเจ็บใจ
              (๔)  ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก
              (๕)  ไม่มักมากในลาภผล
              (๖)   มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
              (๗)  ดำรงตนในยุติธรรม
              (๘)  กระทำการด้วยปัญญา
              (๙)  รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต
              ข้าราชการตำรวจพึงหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาตนเองให้ทันโลกทันเหตุการณ์ และมีความชำนาญการในงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมทั้งต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบธรรมเนียมการปฏิบัติของส่วนราชการในกระบวนการยุติธรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบของตน เพื่อสามารถประสานงานได้อย่างกลมกลืนแนบเนียน และเป็นประโยชน์ต่อราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ