วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ข้อแตกต่างกระบวนการพิจารณาทางวินัยและทางอาญา

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๘๔๙/๒๕๕๕
ป.วิ.อ. การรับฟังพยานหลักฐาน (มาตรา ๒๒๗)
พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ (มาตรา ๕๔)
                 การดำเนินคดีอาญาเป็นการดำเนินการเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่กำหนดโทษทางอาญาไว้มาลงโทษตามกฎหมาย การดำเนินคดีอาญามีความมุ่งหมายสำคัญเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศในด้านต่าง ๆ ความสงบเรียบร้อยของสังคม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ประมวลกฎหมายอาญาจึงกำหนดโทษทางอาญาไว้หลายระดับ คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน ซึ่งโทษดังกล่าวเป็นมาตรการทางกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลโดยตรงอย่างรุนแรง
                ดังนั้น โดยหลักการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการพิจารณาคดีอาญาของศาลยุติธรรมจึงต้องเข้มงวดในการพิสูจน์ความผิดของจำเลย โจทก์จะต้องอ้างพยานหลักฐานและนำ สืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยต่อศาลให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งจนปราศจากข้อสงสัย ศาลจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ หากปรากฏข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดอาญาจริงหรือไม่ แม้เพียงเล็กน้อย ศาลก็จะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามนัยมาตรา ๒๒๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                 ส่วนการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการเป็นมาตรการทางการปกครองและการบังคับบัญชาที่มีความมุ่งหมายสำคัญเพื่อควบคุมความประพฤติของข้าราชการให้อยู่ในกรอบระเบียบวินัยของทางราชการเพื่อให้ข้าราชการปฏิบัติราชการอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล บรรลุเป้าหมายและภารกิจขององค์กร โทษทางวินัยเป็นเพียงมาตรการทางการปกครองซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าโทษทางอาญา กระบวนการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการจึงมีความเข้มงวดน้อยกว่าการดำเนินคดีอาญา โดยกฎหมายกำหนดให้เป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
                 การดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีอาญาจึงมีความมุ่งหมายและกระบวนวิธีพิจารณาที่แตกต่างกัน การดำเนินการทางวินัยจึงไม่จำต้องสอดคล้องหรือถือตามผลการดำเนินคดีอาญาแต่อย่างใด แม้ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่คำพิพากษาดังกล่าวหาได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งว่า เมทแอมเฟตามีนเป็นของบุคคลอื่น หรือผู้ใดเป็นผู้นำเอาเมทแอมเฟตามีนมาซ่อนไว้ในรถยนต์ของผู้ฟ้องคดี อันจะถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ตามนัยมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ที่จะมีผลให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาคำสั่งลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีใหม่ได้

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๓๘๐/๒๕๕๔
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๓๕
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ.๒๕๒๑
                การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการนั้น เจตนารมณ์เพื่อควบคุมความประพฤติและการปฏิบัติตนของข้าราชการให้อยู่ในกรอบอันดีงามเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ถือเป็นเรื่องการบริหารงานบุคคลที่ทางราชการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้เป็นเฉพาะแก่ข้าราชการเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการเหมือนกระบวนการในการลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญา
                เมื่อการสอบสวนปรากฏพยานหลักฐานรับฟังได้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์และการกระทำเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาดำเนินการทางวินัยและใช้อำนาจออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยมิได้รอผลคดีอาญา เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่มีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีก็เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๓๕๐/๒๕๕๔
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๓๕ (มาตรา ๘๒ วรรคสาม, ๘๕ วรรคสอง, ๙๘ วรรคสอง)
                ในคดีอาญานั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานปรากฎชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัย ส่วนการลงโทษทางวินัยนั้นผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลยพินิจสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ปรากฎในสำนวนของคณะกรรมการสอบสวนเป็นสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีอาญาและไม่ต้องรอฟังผลคดีอาญาให้ถึงที่สุดแต่อย่างใด
               แม้ว่าในคดีอาญาจะไม่มีการลงโทษทางอาญาแก่ผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่ผลการลงโทษทางวินัยก็หาจำต้องมีผลไปในทางเดียวกันไม่ เพราะกระบวนการพิจารณาทางวินัยและทางอาญามีความแตกต่างกัน การรับฟังพยานก็อาจจะมีความแตกต่างกันได้