วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ความมุ่งหมายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ความมุ่งหมายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖
หมวด ๑  การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มาตรา ๖

            บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นการกำหนดขอบเขตความหมายของคำว่า  การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีในภาพรวมซึ่งจะเป็นการชี้ให้เห็นวัตถุประสงค์ของการบริหารราชการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  และเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการของทุกส่วนราชการในการกระทำภารกิจใดภารกิจหนึ่งว่า ต้องมีความมุ่งหมายให้บรรลุเป้าหมายในสิ่งเหล่านี้  คือ
             เกิดประโยชน์สุขของประชาชน  ซึ่งได้แก่  การบริหารราชการที่สามารถตอบสนอง  (responsiveness)  ต่อความต้องการของประชาชนและพยายามมุ่งให้เกิดผลกระทบในเชิงบวก  (positive impact)  ต่อการพัฒนาชีวิตของประชาชน
              เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ  ซึ่งได้แก่  การบริหารเพื่อให้ได้รับผลลัพธ์  (outcome)  ตรงตามวัตถุประสงค์  (objective)  ที่วางไว้  โดยมีการบริหารแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์  (resault-based management)  และการจัดทำข้อตกลงว่าด้วยผลงาน  (performance agreement) ในทุกระดับ
             ๓มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ  ซึ่งได้แก่การบริหารที่จะต้องพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยนำเข้า  (input)  กับผลลัพธ์  (outcome)  ที่เกิดขึ้น  โดยมีการทำ  cost- benefit analysis  ให้สามารถวิเคราะห์ความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของแผนงานหรือโครงการต่าง  ๆ  เทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ  รวมทั้งจัดระบบการวางเป้าหมายการทำงานและวัดผลงานของแต่ละบุคคล  (individual scorecards)  ที่เชื่อมโยงกับระดับองค์การ  (organization scorecards)
             .  ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น ซึ่งได้แก่ การกำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานและการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน  (process simplification)  และจัดให้มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจ (empowerment) เพื่อให้การปฏิบัติงานเสร็จสิ้นที่จุดบริการใกล้ตัวกับประชาชน รวมทั้งการปฏิบัติงานในรูปone-stop service
             มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งได้แก่  การทบทวนและปรับปรุงกระบวนการ  และขั้นตอนทำงานใหม่อยู่เสมอ  (process redesign)  ซึ่งจำเป็นต้องทบทวนลำดับความสำคัญและความจำเป็นของแผนงานและโครงการทุกระยะ  (program evaluation)  การยุบเลิกส่วนราชการที่ไม่จำเป็นและการปรับปรุงกฎหมาย  กฎ  ระเบียบต่าง  ๆ  ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์อยู่เสมอ
             ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ  ซึ่งได้แก่  การปฏิบัติราชการที่มุ่งเน้นถึงความต้องการและความพึงพอใจของประชาชน  ผู้รับบริการเป็นหลัก  โดยมีการสำรวจความต้องการของประชาชน  (citizen survey)  และความพึงพอใจของผู้รับบริการ  (customer survey)  ในหลากหลายวิธีและเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อนำมาปรับปรุงการปฏิบัติราชการต่อไป
             มีการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งได้แก่  การตรวจสอบและวัดผลการปฏิบัติงาน  เพื่อให้เกิดระบบการควบคุมตนเอง  (internal control)  ซึ่งจะทำให้สามารถผลักดันการปฏิบัติงานขององค์กรให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
             หลักการดังกล่าวข้างต้น  เป็นหัวข้อสำคัญในการกำหนดความหมายของการบริหารราชการที่ดีที่พึงประสงค์ตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  (ฉบับที่ ๕.. ๒๕๔๕  ส่วนรายละเอียดวิธีการปฏิบัตินั้นในพระราชกฤษฎีกาได้แยกบัญญัติขยายความหมายไว้ในแต่ละหมวดต่อไป  ตั้งแต่หมวดที่  ๒  ถึงหมวดที่  ๘

(ที่มา : www.cmp.ubu.ac.th)