วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การอุทธรณ์เมื่อถูกสั่งลงโทษ (โดยย่อ)

พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗
ลักษณะ ๖  ระเบียบข้าราชการตำรวจ
หมวด ๘  การอุทธรณ์
               มาตรา ๑๐๕  ข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกสั่งลงโทษ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ได้ดังต่อไปนี้
               (๑) กรณีถูกสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงโทษ  แต่ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์ต่อ ก.ตร.
               (๒) กรณีถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.ตร.
               การอุทธรณ์ตาม (๑) และ (๒) ให้อุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
               ระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ตาม (๑) และ (๒) ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่ มีเหตุจำเป็นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. ที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินหกสิบวัน
               หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.

กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ.๒๕๔๗
                ข้อ ๒  การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยและคำสั่งให้ออกจากราชการ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗  ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน กฏ ก.ตร. นี้
                ในกรณีที่เป็นการลงโทษทางวินัยหรือสั่งให้ออกจากราชการตามกฎหมายอื่นซึ่งกำหนดเรื่องการอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะก็ให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น  หากกฎหมายนั้นไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะก็ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาอุทธรณ์ตาม กฎ ก.ตร.  ฉบับนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ข้อ ๓  ข้าราชการตำรวจผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
                  ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์  ทายาทผู้มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดของผู้นั้นมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งแทนได้ภายใต้กำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
                  ระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์  ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จและแจ้งผู้อุทธรณ์ทราบภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์  เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ ก.ตร. ที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว  ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินหกสิบวัน
                ข้อ ๕  การใช้สิทธิอุทธรณ์กรณีถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการให้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.ตร.
                  ในการใช้สิทธิตามวรรคหนึ่ง ผู้อุทธรณ์จะขอแถลงการณ์ด้วยวาจาเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.ตร. ก็ได้  โดยแสดงความประสงค์ไว้ในหนังสืออุทธรณ์  หรือจะทำเป็นหนังสือต่างหาก แต่ต้องยื่นหนังสือนั้นต่อ ก.ตร.  โดยตรงภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ยื่นหนังสืออุทธรณ์  หาก ก.ตร. พิจารณาเห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์จะไม่อนุญาตให้ผู้อุทธรณ์เข้าแถลงการณ์ด้วยวาจาก็ได้

                  ข้อ ๙  ผู้อุทธรณ์มีสิทธิคัดค้านผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์หรือกรรมการข้าราชการตำรวจผู้พิจารณาอุทธรณ์ ถ้าผู้นั้นมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้
                     (๑)  รู้เห็นเหตุการณ์ ในเรื่องที่ผู้อุทธรณ์ถูกสั่งลงโทษหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ
                     (๒)  มีส่วนได้เสีย ในเรื่องที่ผู้อุทธรณ์ถูกสั่งลงโทษหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ
                     (๓)  มีสาเหตุโกรธเคืองผู้อุทธรณ์
                     (๔)  เป็นผู้กล่าวหาหรือเป็นผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษหรือสั่งให้ออกจากราชการ หรือเป็นคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน  หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดาหรือมารดา  กับผู้กล่าวหาหรือผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษหรือสั่งให้ออกจากราชการ
                     (๕)  มีเหตุอื่นซึ่งอาจทำให้การพิจารณาเสียความเป็นธรรม
                     การคัดค้านผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ หรือ ก.ตร.  ผู้พิจารณาอุทธรณ์ต้องแสดง ข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในหนังสืออุทธรณ์ หรือแจ้งเพิ่มเติมเป็นหนังสือ ก่อนที่ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ หรือ  ก.ตร.  แล้วแต่กรณี เริ่มพิจารณาอุทธรณ์
                     เมื่อมีเหตุหรือมีการคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ผู้ถูกคัดค้านผู้นั้นจะถอนตัวไม่พิจารณาอุทธรณ์นั้นก็ได้  ถ้ามิได้ถอนตัว ให้ผู้นั้นส่งคำคัดค้านให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ที่อยู่ลำดับเหนือขึ้นไปของผู้ถูกคัดค้าน ประธานกรรมการ หรือประธานอนุกรรมการ แล้วแต่กรณี พิจารณาเหตุที่คัดค้าน ถ้าเป็นการคัดค้านประธานก็ให้คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่เป็นผู้พิจารณา  หากเห็นว่าเหตุนั้นน่าเชื่อถือ ให้ดำเนินการดังนี้
                      (๑)  กรณีอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชา ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ที่พิจารณาคำคัดค้านนั้นเป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์นั้นแทนผู้ที่ถูกคัดค้าน
                      (๒)  กรณีอุทธรณ์ต่อ ก.ตร. ให้ประธานกรรมการ หรือประธานอนุกรรมการ  คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่ แล้วแต่กรณี แจ้งผู้ถูกคัดค้านทราบและมิให้พิจารณาอุทธรณ์นั้น
                      ในกรณีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ถูกคัดค้าน ก็ให้ดำเนินการตามวรรคสามโดยอนุโลม
                      ทั้งนี้  โดยให้อำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ที่อยู่ในลำดับเหนือขึ้นไปเป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ตร.
                 ข้อ ๒๒  เมื่อ ก.ตร. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และมีมติเป็นประการใดแล้วจะอุทธรณ์ต่อไปอีกมิได้
                       ในกรณีที่ ก.ตร. มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามนัยข้อ ๑๘ (๒) (จ) หรือ (๒) (ฉ) เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้สอบสวนพิจารณาเสร็จแล้วให้พิจารณาดำเนินการตามข้อ ๑๘ (๒) (จ) ต่อไปโดยอนุโลม
                 ข้อ ๒๓  เมื่อ ก.ตร.ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และมีมติเป็นประการใดแล้ว ให้สำนักงาน ก.ตร. แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบหรือดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ก.ตร. และแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว ในหนังสือแจ้งผู้อุทธรณ์ต้องประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้
                      (๑)  เหตุผลในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
                      (๒)  สิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
                 ข้อ ๒๕  กรณีที่อุทธรณ์ต่อไปไม่ได้ตามข้อ ๑๙ และข้อ ๒๒ ผู้อุทธรณ์อาจใช้สิทธิทางศาลได้