วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ขั้นตอนการสืบสวนข้อเท็จจริง ตาม กฎ ก.ตร.

ขั้นตอนการสืบสวนข้อเท็จจริง (โดยย่อ)

             -  ให้ยกเลิก กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง พ.ศ.๒๕๔๗ (ข้อ ๒)
             -  เมื่อมีการกล่าวหา หรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่า ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งการไปภายในอำนาจได้โดยไม่ต้องสืบสวนข้อเท็จจริงก็ได้ ดังนี้
                 (๑)  ไม่มีมูล หรือ
                 (๒)  มีมูลเพียงพอที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง หรือ
                 (๓)  มีพยานหลักฐานฟังได้ว่าผู้กล่าวหากระทำผิดวินัยและสามารถสั่งการได้ในกรณีเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง (ข้อ ๓)
             -  การสืบสวนข้อเท็จจริง หมายถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งพฤติการณ์และการกระทำว่า ข้าราชการตำรวจผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำผิดวินัยตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ (ข้อ ๔)
             -  ภายใต้บังคับข้อ ๓ กรณีที่ควรสืบสวนข้อเท็จจริง ข้าราชการตำรวจในบังคับบัญชาผู้ใดกระทำผิดวินัย มีดังนี้  (ข้อ ๕)
                 (๑)  ผู้บังคับบัญชามีเหตุอันควรสงสัย
                 (๒)  มีผู้ร้องเรียนกล่าวหา โดยผู้ร้องเรียนได้แจ้งชื่อที่อยู่ของตนเองเป็นที่แน่นอน พร้อมระบุพฤติการณ์แห่งกรณีที่กล่าวหา
                 (๓)  ส่วนราชการอื่นหรือหน่วยงานอื่นแจ้งให้ทราบว่า ผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือสงสัย
                 (๔)  มีบัตรสนเท่ห์กล่าวหา โดยระบุพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร ชี้แนะแนวทางเพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนได้
                 (๕)  กรณีปรากฏเป็นข่าวในสื่่อมวลชนใด ๆ โดยระบุข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน กรณีแวดล้อม และหรือพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร ชี้แนะแนวทางเพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนได้
                 (๖)  กรณีอื่นๆ ที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรให้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง
              -  ให้ผู้บังคับบัญชาระดับสารวัตรหรือเทียบเท่าขั้นไป ดำเนินการสืบสวนด้วยตนเอง หรือแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน หรือสั่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำการสืบสวน หรือส่งประเด็นให้เจ้าพนักงานอื่นทำการสืบสวนก็ได้ (ข้อ ๖)
              -  เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนเรื่องหนึ่งเรื่องใดไปแล้ว ห้ามมิให้สั่งสืบสวนในเรื่องเดียวกันนั้นอีก (ข้อ ๗)
              -  กรณีมีผู้ร้องเรียน หรือส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นแจ้งมาตามข้อ ๕ (๒) และ (๓) ให้แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้นๆ ทราบทุกรณีโดยมิชักช้า  (ข้อ ๘)
              -  ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน หรือผู้สั่งให้สืบสวน(ยกเว้นนายกรัฐมนตรี) และคณะกรรมการสืบสวน หรือผู้สืบสวน ต้องไม่เป็นบุคคลดังนี้
                  (๑)  รู้เห็นเหตุการณ์ในเรื่องที่สืบสวน(กรณีผู้สั่งแต่งตั้งฯหรือผู้สั่งให้สืบสวนต้องไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิด)
                  (๒)  มีส่วนได้เสียในเรื่องที่สืบสวน
                  (๓)  มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกสืบสวน
                  (๔)  เป็นผู้ร้องเรียนกล่าวหาหรือเป็นคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือมารดา กับผู้ร้องเรียนกล่าวหา
                  (๕)  มีเหตุอย่างอื่นซึ่งน่าเชื่ออย่างยิ่งว่าจะทำให้การสืบสวนเสียความเป็นธรรม (ข้อ ๙)
              -  ประธานกรรมการสืบสวน ต้องเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรมียศและตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรคณะกรรมการสืบสวนต้องเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรเท่านั้น คณะกรรมการสืบสวนให้มีข้าราชการประจำอย่างน้อย ๓ คนประกอบด้วยข้าราชการตำรวจอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง โดยให้มีเลขานุการ ๑ คน อาจแต่งตั้งจากกรรมการสืบสวนคนใดคนหนึ่งก็ได้ ในกรณีจำเป็นจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการก็ได้ (ให้นำข้อ ๑๓ , ๒๒ , ๒๓ มาบังคับใช้กับเลขาฯและผู้ช่วยฯโดยอนุโลม)   (ข้อ ๑๐)
              -  การแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนให้ทำตามแบบ  (แบบ สส.๑) การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของกรรมการสืบสวนหรือผู้สืบสวนไม่กระทบถึงการที่ได้รับการแต่งตั้งหรือสั่งให้ทำการสืบสวนนั้น (ข้อ ๑๑)


การแจ้งคำสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง
              -  ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯหรือผู้สั่งให้สืบสวน ดำเนินการดังนี้
                 (๑)  ต้องแจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็ว โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อและวันที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน ในการนี้ให้มอบสำเนาคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับด้วย ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมรับทราบคำสั่งหรือไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบได้ ให้ส่งสำเนาคำสั่งไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งปรากฏหลักฐานของทางราชการ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้น ๑๕ วัน นับแต่วันที่ส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าวให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบคำสั่งนั้นแล้ว ให้แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องที่ถูกกล่าวหาต่อประธานกรรมการฯภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่งไปด้วย
                 (๒)  ส่งสำเนาคำสั่งให้คณะกรรมการสืบสวนทราบ ส่วนประธานกรรมการหรือผู้สืบสวนนอกจากส่งสำเนาคำสั่งให้แล้ว ให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหาไปให้ด้วย และให้ประธานกรรมการหรือผู้สืบสวนลงลายมือชื่อและวันที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน  (ข้อ ๑๒)
              -  ถ้าผู้สั่งให้สืบสวนเห็นว่า มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็นต้องเปลี่ยน เพิ่มหรือลดจำนวนกรรมการ ให้แสดงเหตุแห่งการสั่งนั้นไว้ด้วย ให้นำข้อ ๑๐ , ๑๒ มาบังคับใช้โดยอนุโลม และไม่กระทบถึงการสืบสวนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว (ข้อ ๑๓)
              -  คณะกรรมการสืบสวนมีหน้าที่
                 (๑) สืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและดูแลให้บังเกิดความยุติธรรม
                 (๒) รวบรวมประวัติผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหาเท่าที่จำเป็น
                 (๓) จัดทำบันทึกการปฏิบัติงานที่มีการสืบสวนไว้ทุกครั้ง
                 (๔) ห้ามบุคคลอื่นเข้าร่วมสืบสวน (ข้อ ๑๔)


การประชุมคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง
         -  คณะกรรมการสืบสวน ต้องดำเนินการดังนี้
           (๑) ประธานต้องดำเนินการประชุมคณะกรรมการฯเพื่อพิจารณาวางแนวทางการสืบสวน
           (๒) ต้องมีกรรมการฯมาประชุมไม่น้อยกว่า ๓ คน และไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสืบสวนทั้งหมด
           (๓) การประชุมต้องมีประธานฯอยู่ร่วมประชุมด้วย กรณีที่จำเป็นไม่สามารถเข้าประชุมได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่แทน
           (๔) การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าเท่ากันให้ประธานฯออกเสียงชี้ขาด และให้จัดทำบันทึกการประชุมเป็นหนังสือไว้เป็นหลักฐาน  (ข้อ ๑๕)
     -  กรณีกรรมการหรือผู้สืบสวนเห็นว่าตนเองมีเหตุอันอาจถูกค้านได้ตามข้อ ๓๓ ให้รายงานต่อผู้สั่งแต่งตั้งฯ (ข้อ ๑๖)
       ระยะเวลาการสืบสวน
     -  คณะกรรมการหรือผู้สืบสวน ต้องดำเนินการตามกำหนดเวลาดังนี้
           (๑) สืบสวนให้เสร็จโดยเร็วที่สุด แต่ไม่เกิน ๖๐ วัน นับแต่ประธานฯได้รับคำสั่ง หากไม่แล้วเสร็จให้ขอขยายเวลาต่อผู้สั่งแต่งตั้งฯ ตามความจำเป็น แต่ห้ามมิให้เกิน ๖๐ วัน ถ้าขยายแล้วไม่เสร็จให้ประธานฯรายงานเหตุให้ผู้สั่งแต่งตั้งฯทราบ เพื่อติดตามเร่งรัดการสืบสวนต่อไป
           (๒) ในการสืบสวนเพิ่มเติมตามข้อ ๓๖ (๒) ให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน หากไม่แล้วเสร็จให้ขออนุมัติต่อผู้สั่งแต่งตั้งฯ โดยจะอนุมัติได้ตามความจำเป็น แต่ไม่เกินกว่า ๓๐ วัน หากเกินกว่านั้นให้ประธานกรรมการรายงานเหตุให้ผู้สั่งแต่งตั้งฯทราบ เพื่อติดตามเร่งรัดการสืบสวนต่อไป (ข้อ ๑๗(๒))
     -  การนำเอกสารหรือพยานวัตถุมาใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสืบสวน ให้บันทึกว่า ได้มาอย่างไร จากผู้ใด และเมื่อใด และให้ใช้ต้นฉบับ หรือจะใช้สำเนาที่กรรมการฯหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้องก็ได้ หรือในกรณีต้นฉบับสูญหายหรือถูกทำลายจะให้นำสืบพยานบุคคลแทนก็ได้  (ข้อ ๑๘)
        การพิจารณาทำความเห็น
     -  ให้พิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำการใด เมื่อใด กรณีไม่มีมูล=ก็ให้มีความเห็นยุติเรื่อง ทำรายงานสืบสวนเสนอผู้สั่งแต่งตั้งฯ ถ้ากรรมการผู้ใดมีความเห็นแย้งให้ทำความเห็นแย้งแนบไว้ด้วย // กรณีมีมูล=ก็ให้เรียกมาพบเพื่อแจ้งเรื่องที่ถูกกล่าวหา  (ข้อ ๑๙)
     -  ให้คณะกรรมการประชุมพิจารณา (ข้อ ๑๕(๒)) และสามารถทำความเห็นแย้งได้

กรณีมีมูล (ข้อ ๑๙ ว.๒,๓,๔,๗)  ให้ดำเนินการดังนี้
     -  เรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบแล้วแจ้งเรื่องที่ถูกกล่าวหาหรือถูกร้องเรียนให้ทราบว่า ได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร และเป็นความผิดวินัยกรณีใด สรุปหลักฐานเท่าที่มีให้ทราบ อาจไม่ระบุชื่อพยานก็ได้โดยคำนึงถึงหลักการคุ้มครองพยาน โดยบันทึกตามแบบ (แบบ สส.๒) ทำเป็น ๒ ฉบับ มอบให้ผู้ถูกกล่าวหา ๑ ฉบับ เก็บไว้ในสำนวน ๑ ฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อและวันเดือนปีรับทราบไว้เป็นหลักฐานด้วย และให้สอบถามว่าได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร
     -  กรณีผู้ถูกกล่าวหามาแล้วแต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบ หรือไม่มารับทราบเรื่องที่ถูกกล่าวหาหรือถูกร้องเรียน ให้คณะกรรมการฯส่งแบบ สส.๒ ทางไปรษณีย์ตอบรับไปให้ ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาตามหลักฐานของทางราชการหรือที่ผู้ถูกกล่าวหาแจ้งให้ทราบ พร้อมทั้งหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง นัดมาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ตามแบบ สส.๒ เป็น ๓ ฉบับ เพื่อเก็บไว้ในสำนวน ๑ ฉบับ ส่งให้ผู้ถูกกล่าวหา ๒ ฉบับ(โดยให้เก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีรับทราบส่งคืนมารวมไว้ในสำนวนหนึ่งฉบับ) เมื่อล่วงพ้น ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าว แม้จะไม่ได้รับแบบ สส.๒ คืน หรือไม่ได้รับคำชี้แจง หรือไม่มาให้ถ้อยคำตามนัด ให้ถือว่าได้รับทราบและไม่ประสงค์แก้ข้อกล่าวหา กรณีเช่นนี้จะไม่สืบสวนต่อไปก็ได้ หรือสืบสวนต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้ แล้วดำเนินการตามข้อ ๓๑ และข้อ ๓๒ ต่อไป
    -  ถ้าผู้ถูกกล่าวหามาให้ถ้อยคำหรือยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือขอนำสืบแก้ข้อกล่าวหาก่อนที่คณะกรรมการสืบสวนหรือผู้สืบสวนจะเสนอสำนวนการสืบสวนตามข้อ ๓๒ โดยมีเหตุผลอันสมควร ให้คณะกรรมการฯให้โอกาสตามที่ผู้ถูกล่าวหาร้องขอ    

#  ถ้าไม่รับสารภาพ / หรือรับสารภาพบางส่วน (ข้อ ๑๙ ว.๖)  ให้สอบถามว่าจะยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นหนังสือหรือไม่ โดยให้ยื่นคำชี้แจงภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่องที่ถูกกล่าวหาและให้โอกาสที่จะให้ถ้อยคำเพิ่มเติมเพื่อนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ถ้าไม่ประสงค์ชี้แจงเป็นหนังสือก็ให้ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาโดยเร็ว แล้วดำเนินการตามข้อ ๓๑ และข้อ ๓๒ ต่อไป

#  ถ้ารับสารภาพ (ข้อ ๑๙ ว.๕) ให้คณะกรรมการฯแจ้งให้ทราบว่า เป็นความผิดวินัยกรณีใด มาตราใด หากยังคงรับสารภาพ ให้บันทึกถ้อยคำรับสารภาพรวมทั้งเหตุผลในการรับสารภาพ(ถ้ามี) และสาเหตุแห่งการกระทำไว้ด้วย คณะกรรมการฯจะไม่ทำการสืบสวน หรือจะสืบสวนต่อไปก็ได้  แล้วดำเนินการตามข้อ ๓๑ และข้อ ๓๒ ต่อไป

กรณีไม่มีมูล (ข้อ ๑๙ ว.๑) ก็ให้มีความเห็นยุติเรื่อง แล้วทำรายงานการสืบสวนเสนอผู้สั่งแต่งตั้ง กรรมการฯผู้ใดมีความเห็นแย้งก็ให้ทำความเห็นแย้งแนบไว้กับรายงานการสืบสวน

 * ทั้งกรณีมีมูลและไม่มีมูล ให้ดำเนินการต่อไป คือ
    -  ให้คณะกรรมการฯประชุมลงมติ ดังนี้
            (๑) มีมูลกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ ถ้ามีมูล ให้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
            (๒) มีมูลกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง เป็นความผิดกรณีใด ตามมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด
            (๓) มีมูลอันเป็นการกระทำความผิดอาญาหรือมีกรณีต้องรับผิดชอบทางแพ่งอยู่ด้วยหรือไม่ (ข้อ ๓๑) 
    -  สรุปรายงานสืบสวน ตามแบบ (แบบ สส.๕) เสนอสำนวนต่อผู้สั่งให้ทำการสืบสวน ถ้ามีความเห็นแย้งให้แนบกับรายงานการสืบสวน ดังนี้
            (๑) สรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่ามีอย่างไร กรณีไม่ได้สืบสวนพยานหลักฐานตามข้อ ๒๔ , ๒๕ ให้รายงานเหตุนั้นให้ปรากฏไว้ และให้บันทึกเหตุผลในการรับสารภาพ(ถ้ามี)
            (๒) วินิจฉัยเปรียบเทียบพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหากับพยานหลักฐานที่หักล้างข้อกล่าวหา
            (๓) เสนอความเห็นตามข้อ ๓๑(๒) (๑) (๓) ตามลำดับ แล้วนำเสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งฯเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป และให้ถือว่าการสืบสวนแล้วเสร็จ  (ข้อ ๓๒) 
    -  การใช้แบบพิมพ์ การเรียงลำดับเอกสาร การให้หมายเลขเอกสาร ในสำนวนการสอบสวนทางวินัยและการสอบสวนข้อเท็จจริง ให้ทำตามระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๑ บทที่ ๑๕ (แก้ไขโดย ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๑ ความประพฤติและวินัย พ.ศ.๒๕๕๕ ลง ๕ เม.ย.๒๕๕๕)

-------------------------เสร็จสิ้นขั้นตอนการสืบสวน------------------------------------

วิธีการสืบสวน
   -  การสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยานต้องมีคณะกรรมการฯไม่น้อยกว่า ๒ คน (ข้อ ๒๐)
   -  ก่อนเริ่มสอบปากคำพยาน ต้องแจ้งให้ทราบว่าผู้สืบสวนเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อาญา ฯลฯ (ข้อ ๒๑)
   -  ห้ามมิให้ล่อลวง ขู่เข็ญ ฯลฯ (ข้อ ๒๒)
   -  ให้เรียกมาให้ปากคำคราวละหนึ่งคน ห้ามมิให้บุคคลอื่นอยู่ในที่สืบสวนเว้นแต่ทนายความหรือที่ปรึกษาของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ที่ได้รับอนุญาต ให้บันทึกถ้อยคำตามแบบ (แบบ สส.๓ หรือแบบ สส.๔) อ่านให้ฟังหรือให้อ่านเองและให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ห้ามขูดลบแต่ให้ขีดฆ่าข้อความโดยกรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนกับผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อกำกับไว้ กรณีไม่ยอมลงลายมือชื่อให้กรรมการฯบันทึกเหตุนั้นไว้ (ข้อ ๒๓)
   -  กรณีพยานมาแต่ไม่ให้ถ้อยคำ หรือไม่มา หรือติดตามพยานไม่ได้ในเวลาอันควร คณะกรรมการฯจะไม่สืบพยานนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกประจำวันที่มีการสืบสวนตามข้อ ๑๔(๓) และรายงานการสืบสวนตามข้อ ๓๒  (ข้อ ๒๔)
   -  ถ้างดสืบสวนพยานเพราะทำให้การสืบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็นหรือไม่ใช่พยานหลักฐานในประเด็นสำคัญ ให้งดการสืบสวนพยานหลักฐานนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกประจำวันที่มีการสืบสวนตามข้อ ๑๔(๓) และรายงานการสืบสวนตามข้อ ๓๒ (ข้อ ๒๕)
   -  สามารถส่งประเด็นไปให้หัวหน้าหน่วยงานที่เห็นว่าเกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนแทนก็ได้ โดยผู้ได้รับมอบหมายให้นำข้อ ๑๔(๔) , ๒๑ , ๒๒ , ๒๓ และ ๒๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม (ข้อ ๒๖)
   -  กรณีที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัยในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ ให้ประธานฯรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งฯโดยเร็ว ถ้าเห็นว่ากรณีเป็นที่สงสัยก็ให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯคณะเดิม หรือคณะใหม่เป็นผู้ทำการสืบสวนก็ได้  (ข้อ ๒๗)
   -  ในกรณีที่สืบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการตำรวจผู้อื่นว่ามีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำนั้นด้วย ให้ประธานฯรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งฯโดยเร็ว ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งฯเห็นด้วย ก็ให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯคณะเดิม หรือคณะใหม่เป็นผู้ทำการสืบสวนก็ได้ กรณีแยกสำนวนการสืบสวนใหม่ให้นำพยานหลักฐานในสำนวนเดิมมารวมไว้ในสำนวนใหม่และให้บันทึกให้ปรากฏด้วยว่านำมาจากสำนวนการสืบสวนเดิม  (ข้อ ๒๘)
   -  ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดหรือต้องรับผิดในคดีที่เกี่ยวกับเรื่องที่สืบสวน ก็ให้ถือเอาคำพิพากษานั้นเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องสืบสวนต่อไปก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามที่ปรากฏในคำพิพากษาให้ทราบ โดยให้นำข้อ ๑๙ ว.๒-๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม (ข้อ ๒๙)
   -  แม้จะมีคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปอยู่นอกบังคับบัญชาของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน ให้คณะกรรมการฯทำการสืบสวนต่อไปจนเสร็จ แล้วทำรายงานการสืบสวนเสนอผู้สั่งแต่งตั้งฯ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตามข้อ ๓๗, ๓๘, ๓๙ แล้วให้ผู้สั่งแต่งตั้งฯ ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่ของผู้ถูกกล่าวหาเพื่อดำเนินการตามข้อ ๓๖ ต่อไป (ข้อ ๓๐)
   -  ในกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯหรือสั่งให้ผู้ใดทำการสืบสวนไม่ถูกต้องตามข้อ ๑๐ เว้นแต่กรณีไม่มีเลขานุการ ให้ผู้มีอำนาจสั่งแก้ไขให้ถูกต้อง การแก้ไขไม่ทำให้การสืบสวนที่ดำเนินการไปแล้วเสียไป  (ข้อ ๓๗)
   -  ในกรณีการสืบสวนตอนใดไม่ถูกต้องให้การสืบสวนตอนนั้นเสียไป ดังนี้ (๑)กรรมการสืบสวนมาประชุมไม่ครบตามข้อ ๑๕(๒)  (๒)การสอบปากคำไม่ถูกต้องตามข้อ ๑๔(๔) ข้อ ๒๐, ๒๒, ๒๓ วรรคหนึ่ง และข้อ ๒๖  (๓)ในกรณีที่คณะกรรมการฯหรือผู้สืบสวนไม่เรียกผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาและให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงตามข้อ ๑๙ ว.๒-๗ ให้สั่งให้คณะกรรมการฯหรือผู้สืบสวนดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว (ข้อ ๓๘)
   -  ในกรณีที่ปรากฏว่าการสืบสวนตอนใดทำไม่ถูกต้องตามกฎ ก.ตร.นี้ นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๘ ถ้าการสืบสวนตอนนั้นเป็นสาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ให้สั่งให้คณะกรรมการฯแก้ไขหรือดำเนินการตอนนั้นให้ถูกต้องโดยเร็ว แต่ถ้ามิใช่สาระสำคัญจะสั่งให้แก้ไขหรือไม่ก็ได้  (ข้อ ๓๙)
   -  การนับระยะเวลา ให้นับถัดจากวันแรกเป็นวันเริ่มต้นนับระยะเวลา แต่ถ้าเป็นกรณีขยายเวลาให้นับต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มระยะเวลาที่ขยายออกไป ส่วนเวลาสิ้นสุดถ้าตรงกับวันหยุดราชการให้นับวันเริ่มเปิดทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา  (ข้อ ๔๐)

-------------------------สิทธิและหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา------------------------------------

   -  ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิคัดค้านผู้สั่งแต่งตั้ง กรณีมีเหตุตามข้อ ๙ การพ้นจากการเป็นกรรมการสืบสวนหรือผู้สืบสวนไม่กระทบถึงการสืบสวนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว (ข้อ ๓๓)
   -  ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะได้รับแจ้งเรื่องที่ถูกกล่าวหาหรือถูกร้องเรียนตามข้อ ๑๙  (ข้อ ๓๔)
   -  ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิให้ทนายความหรือที่ปรึกษาจำนวนไม่เกิน ๑ คน มานั่งฟังการสอบสวนก็ได้ แต่จะให้ถ้อยคำแทนไม่ได้ (ข้อ ๓๕) 

------------------------การพิจารณาของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน------------------------------

   -  เมื่อผู้สั่งแต่งตั้งฯได้รับความเห็นและผลการสืบสวนแล้ว ให้พิจารณาดังนี้
          (๑)  ตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนการสืบสวนตามข้อ ๓๗, ๓๘, ๓๙
          (๒)  สั่งให้สืบสวนเพิ่มเติม
          (๓)  สั่งยุติเรื่อง
          (๔)  สั่งลงโทษไปภายในอำนาจกรณีทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงและมีอำนาจสั่งลงโทษตามมาตรา ๘๙ แต่ถ้าเห็นว่าสมควรได้รับโทษเกินอำนาจที่จะสั่งลงโทษได้ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป
          (๕)  เสนอผู้บังคับบัญชากรณีเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง
          (๖)  ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายกรณีเห็นว่ามีมูลเป็นการกระทำผิดอาญา การพิจารณาให้ผู้มีอำนาจพิจารณาโดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน ๒๔๐ วัน นับแต่ได้รับสำนวน กรณีมีเหตุจำเป็นให้ขยายเวลาได้อีกสองครั้ง ๆ ละไม่เกิน ๖๐ วัน หากไม่แล้วเสร็จให้ผู้ถูกกล่าวหากลับคืนสู่ฐานะเดิมจนกว่าการพิจารณาสั่งการในเรื่องนั้นจะเสร็จสิ้นและมีคำสั่ง (ข้อ ๓๖)

แบบฟอร์มการสืบสวนข้อเท็จจริง